xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แผ่นดินไหว “เกาะยาว” ไม่เกี่ยวเนปาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล
นักวิชาการจุฬาฯ ชี้แผ่นดินไหวที่ อ.เกาะยาว พังงา จนรู้สึกได้ถึงภูเก็ตและกระบี่ไม่เกี่ยวเนปาลเพราะอยู่คนละระบบ คาดการณ์อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น แต่จะเกิดไม่ความรุนแรงเกิน 5.8 พร้อมเผยโซนแผ่นดินไหวแถบหิมาลัย 11 โซน ระบุเนปาลเกิดตามรอบเฉลี่ย 160 ปีหลังจากไม่เกิดมานาน แต่มีอีก 2 จุดน่าจับตาที่ภูฏานและอัสสัมในอินเดีย



ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงกรณีแผ่นดินไหวขนาด 4.6 ใต้เกาะยาว อ.เกาะยาว จ.พังงา เมื่อเช้าตรู่วันที่ 6 พ.ค.58 ที่รู้สึกได้ถึงภูเก็ตและกระบี่นั้น ไม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เนปาล

ทั้งนี้ ศ.ดร.ธนวัฒน์ระบุว่า หลังจากแผ่นดินไหวขนาด 3.2 เมื่อปี 2555 ที่ จ.ภูเก็ตก็มีการปลดปล่อยพลังงานออกมาจากอย่างต่อเนื่องและเกิดถี่เป็นเดือน และมีการคาดการณ์แผ่นดินไหวในกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่เป็นผลของแผ่นดินไหวในครั้งนี้อยู่แล้ว แต่คาดการณ์ว่ารอยเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กกว่ากลุ่มรอยเลื่อนที่ จ.เชียงราย และมีขนาดไม่เกิน 5.8

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.ธนวัฒน์ย้ำว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เนปาลนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อแผ่นดินไหวที่ไทย เพราะอย่างแรกคือเป็นแนวแรงคนละแนวและอย่างที่สองคือเป็ลกลุ่มรอยเลื่อนคนละกลุ่ม พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่าการเกิดแผ่นดินไหวนั้นเหมือนการเติมน้ำที่เราไม่ทราบว่าแก้วที่เติมไปแล้วนั้นมีปริมาณน้ำอยู่เท่าไร และเต็มแล้วหรือยัง

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ธนวัฒน์ยังได้ให้ข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดเนปาลว่าเป็นผลจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียที่มุดลงใต้แผ่นเปลือกโลกยูโรเซียโดยเฉลี่ย 5 เซ็นติเมตรต่อปี และการมุดตัวดังกล่าวทำให้เกิดรอยแยกเป็นกลุ่มแนวรอยเลื่อน และจากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาแผ่นดินไหวย้อนกลับไป 500 ปีแบ่งการเกิดแผ่นดินไหวจากกลุ่มรอยเลื่อนในแถบมุดตัวดังกล่าวได้เป็น 11 กลุ่ม

แนวมุดตัวดังกล่าว ศ.ดร.ธนวัฒน์ระบุว่ามีชื่อเรียกคือ “แนวโค้งเทือกเขาหิมาลัย” (Himalayan Arc) ที่มีแนวแผ่นดินไหวเป็นระยะทางถึง 2,000 กิโลเมตร ในส่วนของแผ่นดินไหวที่เนปาลนั้น พบว่าเป็นแผ่นดินไหวของชุดที่มีคาบการเกิดเฉลี่ย 160 ปี โดยข้อมูลย้อนหลังเผยว่าบริเวณกาฐมาณฑุของเนปาลนั้นเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ในปี 2376 และขนาด 7.9 ซึ่งเป็นขอมูลอย่างไม่เป็นทางการในปี 2212

จากการศึกษาข้อมูลย้อนกลับไปในอดีตดังกล่าวนักวิชาการจากหน่วยศึกษาพิบัติภัย จุฬาฯ กล่าวว่าทำให้แน่ใจได้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาลนั้นไม่ใช่คาบซ้ำทุก 80 ปีแต่เป็น 160 ปี ซึ่งการมีข้อมูลการเกิดซ้ำนี้จะทำให้คาดการณ์รอบการเกิดแผ่นดินไหวได้แม่นยำขึ้น โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่คาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหวซ้ำได้แม่นยำที่สุด เนื่องจากมีชุดข้อมูลมาก

ทว่า ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าวว่ายังมีอีก 2 จุดที่น่าจับตาคือแผ่นดินไหวที่ภูฏานและรัฐอัสสัมในอินเดีย ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อปี 2490 ในภูฏานและขนาด 7.3 เมื่อปี 2493 ในรัฐอัสสัม ซึ่งนักวิชาการยังไม่ทราบรอบการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ทั้งสอง เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวทั้ง 11 กลุ่มรอยเลื่อนในแนวโค้งเทือกเขาหิมาลัยนั้นมีพฤติกรรมแตกต่างกัน เช่น บางโซนมีคาบการเกิด 80 ปีแต่บางโซนอย่างในเนปาลมีคาบการเกิดเฉลี่ย 160 ปี เป็นต้น

    
แผนภาพแสดงจุดเกิดแผ่นดินไหว 11 โซน หิมาลายันอาร์ค ในแถบหิมาลัย ซึ่งแถบภูฏานและรัฐอัสสัมยังไม่มีข้อมูลการเกิดซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น