แม้ไทยอาจจะพลาดชม “สุริยุปราคาเต็มดวง” ครั้งเดียวของปีนี้ไป แต่ภาพความงดงามของปรากฏการณ์ใต้เงาจันทร์นี้ก็เผยแพร่ออกมาจากต่อหนึ่ง อีกภาพที่น่าประทับใจคือภาพปรากฏการณ์ที่บันทึกได้จากเครื่องบินขณะบินเข้าไปอยู่ใต้เงามืดขณะเกิดคราส
ผู้ใช้ยูทิวบ์ ซิลเวียง เชปลันด์ (Sylvain Chapeland) ได้เผยแพร่คลิปปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2015 ที่ผ่านมา ขณะโดยสารเครื่องบินด้วยความเร็ว 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหนือพื้นโลกในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) ที่ความสูง 14,000 เมตร และเครื่องบินได้เข้าไปอยู่ใต้เงาดวงจันทร์ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 3,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในคลิปได้เผยให้เห็นปรากฏการณ์ที่เร่งความเร็ว 8 เท่า และ 3 เท่า โดยให้ความสว่างที่มืดลงอย่างฉับพลันเมื่ออยู่ใต้เงามืด (umbral path)
อีกคลิปที่เผยภาพนิ่งของปรากฏการณ์ตั้งแต่คราสเริ่มบังจนถึงปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่เผยให้เห็นแสงออโรรา ของดวงอาทิตย์ด้วย
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้มีแนวคราสพาดผ่านทางตอนเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทร อาร์กติก ผ่านหมู่เกาะแฟโรของเดนมาร์ก และหมู่เกาะสฟาลบาร์ของนอร์เวย์ ส่วนบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ได้แก่ ทวีปยุโรป ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ตอนเหนือของทวีปแอฟริกา และด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชีย
ส่วนปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 9 มี.ค.59 ซึ่งสถานที่ที่ดีสุดสำหรับการสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงคือประเทศ อินโดนีเซีย และพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยจะเห็นปรากฏการณ์ในครั้งนั้นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน
*******************************