xs
xsm
sm
md
lg

มอบ "รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ '57" ในงานวันนักประดิษฐ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ได้รับรางวัลสภาวิจัยประจำปี 2557
วช.มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี'57 อาจารย์จุฬาฯคว้า 6 รางวัลซิวครึ่งเวที "นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ" พร้อมโชว์ผลงานวิจัย 30 ผลงานและวิทยานิพนธ์ดีเด่นอีก 35 รางวัล เพิ่มขวัญกำลังใจนักวิจัยไทย

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2557 มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ, รางวัลผลงานวิจัย และรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่นักวิจัยไทย ระหว่างพิธีเปิดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2558 ณ อาคารอิมแพ็ค ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 2 ก.พ.58

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยว่า รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการที่ วช.ได้เชิญชวนให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ร่วมเสนอชื่อนักวิจัย ผลงานวิจัย และวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพ เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติที่ถือว่าเป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ และทรงคุณค่าสำหรับนักวิจัยไทย

ศ.นพ.สุทธิพร ระบุว่า รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2538 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานวิจัยดีเด่นเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องในวงวิชาการ ว่ามีความสร้างสรรค์ และมีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ โดยนักวิจัยที่จะได้รับรางวัลจะต้องเป็นผู้อุทิศตนในการทำวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง และผลงานจะต้องแสดงออกถึงความริเริ่มใหม่ และมีเวลาดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปี

รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประกอบด้วย 3 รางวัลย่อยคือ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ, รางวัลผลงานวิจัย และรางวัลวิทยานิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก) ซึ่งในปีนี้คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติได้มีมติให้มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 57 ถึง 77 รางวัล โดย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 5 แสนบาทพร้อมเหรียญนักวิจัยดีเด่น ซึ่งในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล จำนวน 12 ท่าน ได้แก่

(สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) ศ.ดร.สุเทพ สวนใต้ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่

(สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) ศ.ดร.พญ.นริสา ฟูตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช) ศ.ดร.ภญ.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มงคล สุขวัฒนาสินิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) ศ.นพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศ, ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์

(สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย) ศ.ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น

(สาขาปรัชญา) ศ.ดร.ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

(สาขานิติศาสตร์) ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

(สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์) ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์

พร้อมกันนี้ยังได้มีการมอบรางวัลผลงานวิจัยเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจแก่นักวิจัยที่มีความคิดผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ในสาขาวิชาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์อีก 30 รางวัล ซึ่งการมอบรางวัลในสาขานี้ได้ทำติดต่อกันมาแล้วถึง 40 ปี โดยผู้ได้รับรางวัลงานวิจัยในระดับดีเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 2 แสนบาทพร้อมเหรียญทอง ระดับผลงานวิจัยดีเด่นจะได้รับเงินรางวัล 1 แสน 5 หมื่นบาทพร้อมเหรียญเงิน และรางวัลผลงานวิจัยระดับดีจะได้รับเงินรางวัล 1 แสนบาทพร้อมเหรียญทองแดง ซึ่งผลงานได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นในปีนี้มี 2 ผลงาน ได้แก่

เรื่อง “ธุรกิจนวัตกรรมเครื่องประดับเงินคุณภาพสูงจากนาโนซิลเวอร์เคลย์” ของ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผลงานวิจัยเรื่อง “การกระตุ้นให้แม่พันธุ์กุ้งวางไข่ด้วยอาร์เอ็นเอสายคู่ที่จำเพาะต่อยีน GIH” ของ รศ.ดร.อภินันท์ อุดมกิจ และ ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล จากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล นอกจากนั้นเป็นผลงานระดับดีเด่น 7 ผลงานและระดับดีอีก 21 ผลงาน

นอกจากนี้ยังได้มีการมอบรางวัลวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาปริญญาเอกจำนวน 35 เรื่องอีกด้วย ซึ่งในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีเยี่ยมถึง 5 ผลงานได้แก่
วิทยานิพนธ์สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์เรื่อง “ศึกษาความแตกต่างของสภาวะทางไฟฟ้าที่ระดับนาโนด้วยกล้องจุลทรรศน์ไมโคเวฟ” ของ ดร.วรศม กุนทีกาญจน์ มหาวิทยาลัยแสตนด์ฟอร์ด สหรัฐฯ,

วิทยานิพนธ์สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่อง “การศึกษาผลของระบบภูมิคุ้มกันต่อความสามารถในการทำลายก้อนมะเร็งของไวรัส Vesicular stomatitis” ของ ดร.พรพิมล วงศ์ธิดา วิทยานิพนธ์ของ: สถาบันมาโย สหรัฐฯ,

วิทยานิพนธ์สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยาเรื่อง “การอ่อนตัวของกล้ามเนื้อกุ้งก้ามกรามภายหลังการตาย : บทบาทของเอนไซม์โปรตีเอส และการป้องกัน” ของ ผศ.ดร.โชษณ ศรีเกตุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,

วิทยานิพนธ์สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมของเฟสและจลนศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงเฟสขณะใช้งานของสารประกอบโอลิวีนที่ใช้เป็นขั้วไฟฟ้าแคโทดในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน” ของ ผศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง มหาวิทยาลัยแมสซาซุเซต สหรัฐ,

วิทยานิพนธ์สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เรื่อง “การใช้เหตุผลกับองค์ความรู้เชิงประพจน์ : กรอบการศึกษาสำหรับปัญหาความสอดคล้องแบบบูลและการเรียบเรียงองค์ความรู้” ของ ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย สหรัฐฯ

นอกจากนั้นเป็นรางวัลระดับดีเด่นและดี จำนวน 11 รางวัลและ 19 รางวัลตามลำดับ โดยผู้ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีเยี่ยมจะได้เงินรางวัล 1 แสนบาท, ระดับดีเด่นได้รับ 7 หมื่นบาท และระดับดีรางวัลละ 5 หมื่นบาท และสำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาจะได้รับโล่ขอบคุณ

โดยงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2558 จะจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 58 เวลา 9.00-18.00 น. ณ อาคารอิมแพ็ค ฮอลล์ 9 (ชั้น 2) เมืองทองธานี ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โฉมหน้านักวิจัยดีดีเด่นประจำปี 2557
บรรยากาศการพูดคุยแนะนำนักวิจัยดีเด่นในงานวันนักประดิษฐ์
ศ.นพ.สุทธิพร  จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น