นานๆ ทีนักชีววิทยานับร้อย จะท้ากันมาตะลุมบอน ไม่ได้ท้าตีท้าต่อย แต่ชวนกัน “รุมสำรวจ” ชนิดพันธุ์อันหลากหลาย ที่ซ่อนตัวอยู่ใกล้เมืองกรุง เปิดประสบการณ์บทใหม่ของวิทศาสตร์พลเมือง หรือ Citizen science ให้ผู้สนใจร่วมเรียนรู้
สิบโมงเช้าของวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถือเป็นนาทีประวัติศาสตร์ เมื่อเสียงนกหวีดเริ่มกิจกรรม Bioblitz ดังขึ้น ที่คุ้งบางกระเจ้า พื้นที่สีเขียว ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นปอดของคนกรุงเทพ
กิจกรรม Bioblitz มาจากคำว่า “Bio” หรือ “ชีวิต” รวมกับ คำว่า “Blitz” แปลว่า “การจู่โจมแบบตะลุมอน” เมื่อคิดทำกันในไทย จึงได้ชื่อเท่ๆ ว่า “ชีวะตะลุมบอน” ให้อารมณ์ว่า นักชีววิทยารวมหัวกันมะรุมมะตุ้มรุมสำรวจ
กิจกรรมนี้สำคัญยังไง? จุดมุ่งหมายของ Bioblitz คือ การรุมสำรวจสิ่งมีชีวิต ในพื้นที่ๆ กำหนด ให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ทำกันมานาน ในหลายๆ ประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญกลุ่มสิ่งมีชีวิตด้านต่างๆ อาสามาจำแนกชนิด ร่วมกับอาสาสมัครจากทางบ้าน กิจกรรม Bioblitz ที่จัดขึ้นทั่วโลก จึงหลากหลายตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ภูมิประเทศ องค์ความรู้ และกำลังคน ตั้งแต่ปากปล่องภูเขาไฟ สวนสาธารณะ อุทยานแห่งชาติ จนถึงลงทะเลรุมสำรวจแนวประการัง
Bioblitz ที่จัดขึ้นในอเมริกา และแคนาดา นักวิทยาศาสตร์ “ปล่อยของ” ให้ประชาชนที่มาร่วมได้ "กรี๊ดกร๊าด"กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง DNA Barcoding และ PhyloChip ที่ช่วยจำแนกชนิดของแพลงค์ตอน แบคทีเรียในดิน และในน้ำหลายพันชนิดได้ในช่วงข้ามคืน
แม้ในบ้านเราจะจัดเป็นครั้งแรกด้วยสไตล์ง่ายๆ สบาย แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จดีไม่น้อยเลย ในบ่ายวันที่ 2 พฤศจิกายน เมื่อถึงเวลาปิดกิจกรรมชีวะตะลุมบอน ในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าพบสิ่งมีชีวิตทั้งหมด 675 ขนิด จากการรวมพลังสำรวจ โดยนักชีววิทยา 200 คน และผู้สนใจอีก 150 คน
ก่อนเริ่มงานมีคนคาดการณ์ว่าที่บางกระเจ้า น่าจะต้องเจอ “ของดี” และผลที่ได้ก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะการสำรวจครั้งนี้ พบ “ไส้เดือนมีปีก” ซึ่งอาจเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก และ “กุ้งเต้นสีชมพู” ที่เป็นรายงานการพบครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ประสบความสำเร็จ น่ายินดี
การนั่งยิ้มกับผลของสติถิตัวเลขบนกระดาน เป็นความสุขแค่ชั่วครู่ แต่การขบคิด เพื่อถอดบทเรียนจัดร่วมกิจกรรม อาจสำคัญกว่าในระยะยาว
บทเรียนแรก “พื้นที่ คือ หัวใจ”
หลักคิดแรกสุดของการทำ Bioblitz ทั่วโลก คือ การเลือกพื้นที่ ที่มีความสำคัญ และต้องอยู่ใกล้ชุมชน เพราะจุดประสงค์ใหญ่ คือ การสร้างองค์ความรู้ภาคพลเมือง เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพใกล้ตัว คุ้งบางกระเจ้า ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้กรุง แต่กำลังตกอยู่ในสภาวะคับขันจากกฏหมายผังเมืองที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อภาคธุรกิจเข้ามาลงทุน คุ้งบางกระเจ้าจึงเหมาะสมมากที่สุดแห่ง เพื่อเปิดให้เห็นว่า ในร่มเงาของต้นไม้เขียว ยังมีอีกหลากหลายลมหายใจที่ต้องอาศัยพึ่งพิงกันอยู่ หากมีการเปลี่ยนแปลงไป ชาวกรุงเทพจะเสียอะไรไป และควรจัดการ เพื่อรักษา หรือทดแทนให้กับเจ้าของพื้นที่ในรูปแบบใด
แม้การจัดงานเล็กๆ นี้จะหวังผลเพื่อก่อคลื่นใหญ่กระจายข้อมูลให้คนในบางกระเจ้าและคนกรุงได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อจัดการทรัพยากรของตนเอง แต่ข้อสังเกตที่ทีมสำรวจหลายคนเห็นตรงกันก็ คือ “แม้จะมีคนกรุงเทพข้ามแม่น้ำมาช่วยงานมาก แต่การมีส่วนร่วมของคนบางกระเจ้ายังอยู่ในวงจำกัด” ซึ่งอาจมีผลจากปัจจัยหลายด้าน ที่อาจต้องอาศัยเวลา และการประสานงานต่อเนื่องในระยะยาว แต่เชื่อได้ว่า หากจัดการได้ดี ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพจากกิจกรรมชีวะตะลุมบอน จะเป็นสื่อกลางที่ใช้พัฒนาการมีส่วนร่วมและการจัดการทรัพยากรของคนในคุ้งบางกระเจ้าได้ในอนาคต
บทเรียนที่สอง “เจ้าภาพดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
หากเปรียบเทียบมุมมองของ “เจ้าภาพ” ในเชิงตรรกะ การรุมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยในระดับชาติ มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักการเดียวกัน คือ ยึดสร้างองค์ความรู้ในระดับพื้นที่เป็นหลัก หริอ Area-based Research เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) จนสามารถสร้างประชาคมวิจัยขนาดใหญ่ และองค์ความรู้ลงสู่ระดับชุมชนหลายแห่ง ถือเป็นเจ้าภาพขนาดใหญ่ที่ระดมนักชีววิทยามาร่วมทำงานกันอย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ตามโครงการในลักษณะนี้อาจตีความได้ว่า “เจ้าภาพ” มีสถานภาพเป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งแตกต่างจากงานอาสาสมัครค่อนข้างชัดเจน
ทว่า กิจกรรมชีวะตะลุมบอนเป็น “งานอาสาสมัคร” ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจ คือ “ทำไมงานขนาดเล็กที่จัดเพียง 24 ชั่วโมง กลับดึงนักวิทยาศาสตร์มากถึง 200 คน จาก 20 องค์กรมาทำงานร่วมกันได้ โดยไร้ค่าตอบแทน?” คำตอบอาจจะเป็นเพราะทุกคน “อยากร่วมสนุกและไว้ใจเจ้าภาพ” นั่นคือ องค์กรอันด้บต้นๆ ด้านการสื่อสารสิ่งแวดล้อมอย่าง “มูลนิธิโลกสีเขียว” และ แม่งานอย่าง“ดร.อ้อย-สรณรัฐ กาญจนวานิช” นักธรรมชาติวิทยาที่คนทั้งวงการไว้วางใจ ด้วยบุคลิกตรงไปตรงมา และจริงใจกับการทำงานเพื่อส่วนรวมเสมอมา
ในตรรกะแบบวิทยาศาสตร์เรื่องเจ้าภาพนี้อาจไม่สำคัญ แต่ในโลกความเป็นจริง เจ้าภาพโดยเฉพาะในสังคมไทย คือ “กุญแจดอกใหญ่” ที่ไขความเชื่อใจของนักวิชาการและประชาชนให้มองเห็นประโยชน์สาธารณะตรงกันได้ เพราะหลายครั้งการรวมตัวกันคนในสังคมและประชาคมวิจัยไม่เกิดขึ้น เพียงเพราะ “ไม่ไว้ใจเจ้าภาพ” ไม่แน่ใจว่ามีจุดประสงค์ใดซ่อนเร้นอยู่ อาจจะจัดงานตามงบ จัดงานเพราะต้องการปิดงบ หรือจัดงานเพราะต้องเอาใจนาย จนอาจสะท้อนความจริงว่า “หากมีเจ้าภาพ และผู้ประสานงานที่ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในแนวทางการทำงานเพื่อส่วนรวม เงินทุนก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องการร่วมลงมือแบบของใจแลกด้วยใจ ยังมีอยู่จริง”
บทเรียนที่สาม “การจัดการให้เหมือนไม่จัดการ”
วิธีการจัดกิจกรรมแบบเรียบง่าย เป็นเสน่ห์ข้อสุดท้ายที่สัมผัสได้จากงานชีวะตะลุมบอน นั่นคือ การจัดการสไตล์สบายๆ เป็นกันเอง และเปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้าถึงได้สะดวกตามความถนัด
ในการประชุมอาสาสมัครฝ่ายรวมข้อมูลครั้งสุดท้าย ดร.อ้อย ผู้เป็นแม่งาน พูดว่า “พี่รู้ว่าทุกคนอยากให้มันคุ้ม เราทุกคนเป็นนักชีววิทยา เราก็อยากได้อะไรที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ พี่กับทีมที่ปรึกษาเองก็คิดไว้ 5-6 รูปแบบ แต่สุดท้ายเราขอเลือกทำรูปแบบที่ง่ายที่สุด ขั้นตอนน้อยที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด เพราะนี่เป็นครั้งแรก ถ้าเราซีเรียส คนทั่วไปเค้าเข้ามาก็จะรู้สึกได้ว่ามันซีเรียส ซึ่งนั่นไม่น่าจะเป็นผลดีกับการมีส่วนร่วมของคนที่เค้าอยากเข้ามาช่วยสำรวจ”
เบื้องหลังลับที่ไม่ค่อยมีใครรู้ คือ ทีมประมวลข้อมูลในกิจกรรมครั้งนี้ คือ นักชีววิทยารุ่นใหม่ ระดับว่าที่ด็อกเตอร์กว่าสิบคนจากหลายสถาบัน ซึ่งร่วมกันเสนอวิธีการส่งผลรวมการสำรวจเพื่อประมวลผลแบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่นง่ายๆ อย่างกูเกิลดอค, ไลน์ และเฟซบุ๊ก ตามสไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ แต่ก็ทำให้หัวใจสำคัญของการสำรวจสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ในพื้นที่กว้างขนาดหนึ่งตำบลเสร็จสิ้นอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูง
นอกจากนี้กิจกรรมชีวะตะลุมบอน กลายเป็นโอกาสสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ที่มองเห็นกันและกันด้วยการลงมือทำ ได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ได้กางเตนท์ทำงานร่วมกันข้ามคืน ซึ่งคงไม่มีเวทีวิชาการไหนที่สร้างบรรยากาศการทำงาน และเปิดโอกาสให้คนทุกรุ่นรู้จักกันได้มากเท่านี้
การจัดชีวะตะลุมบอนแค่ 24 ชั่วโมง นั้นเหมือนจะง่ายแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่น่าคิดต่อ และพอเป็นไปได้ในบริบทแบบไทยๆ อาจเป็นการขยายผล โดยเริ่มต้นในสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ เพราะมีองค์ประกอบพื้นฐานพร้อมแล้วเกือบทุกอย่าง ที่ผ่านมาก็เคยมีการจัดการสำรวจเล็กๆ กันเองภายในมหาวิทยาลัย เช่น งาน Salaya Mini BioBlizt ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และงาน KU Night Watch ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มาบ้าง แต่ก็มีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้จัดเป็นแบบมาๆ หายๆ ไม่ต่อเนื่อง หากลองรื้อทำใหม่กันอีกทีก็น่าจะดีไม่น้อย
หากสนใจ สามารถเข้าไปดูข้อมูลการสำรวจ และภาพสิ่งมีชีวิตที่ไม่น่าเชื่อว่าพบได้ใกล้ๆ ตัวใน facebook เพจ “BioBlitz 2014 บางกะเจ้า” ซึ่งยังมีการอัพเดทข้อมูลสิ่งมีวิตที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังจำแนกชนิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่
Facebook: https://www.facebook.com/bioblitzthailand
สรุปกิจกรรมจากมูลนิธิโลกสีเขียว: http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/2476
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์