xs
xsm
sm
md
lg

ย่อส่วน “มหกรรมวิทย์” ไว้ที่จามจุรีสแควร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ทุกปี “มหกรรมวิทย์” ซึ่งเป็นงานระดับชาติจะถูกจัดขึ้นในเมืองหลวง แต่ปีนี้งานได้ย้ายขึ้นไปจัดที่เชียงใหม่เพื่อขยายโอกาสแก่ชาวภาคเหนือ แต่ก็ไม่สะดวกสำหรับผู้สนใจจากในกรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ อพวช.ซึ่งเป็นแม่งานจึงได้ย่อส่วนของงานไว้ที่ “จตุรัสวิทยาศาสตร์” ณ จามจุรีสแควร์ ให้ชมงานได้ถึงสิ้นปี '57

เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หลายคนคงมีโอกาสไปเยี่ยมชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2557 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมและสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ และเป็นครั้งแรกของงานระดับชาติประจำสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ย้ายสถานที่จัดงานจากในกรุงเทพฯ ออกไปยังภูมิภาคอื่น

ทว่า ด้วยเสียงเรียกร้องจากผู้สนใจในกรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ องค์การบริหารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงขยายโอกาสการเข้าถึงนิทรรศการต่างๆ ในงานมหกรรมดังกล่าว โดยเปิดตัวนิทรรศการใหม่ “รวมมิตรเรื่องวิทย์ ใกล้ชิด เทคโน 2014” (Mini Science Fair 2014) ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 จัตุรัสจามจุรี (จามจุรีสแควร์) จนถึงสิ้นปี 2557 นี้

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพวช. ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เผยว่าได้คัดเลือกนิทรรศการเด่นๆ จากงานมหกรรมมาจัดแสดงอีกครั้ง 6 ชุดนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการอัจฉริยภาพพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ที่อยู่ร่วมกันกับนิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ นิทรรศการทำเกษตรอย่างฉลาด (Smart Farming) ที่ควบรวมนิทรรศการพลังงานแห่งอนาคต รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับภูมิปัญญาลุ่มน้ำล้านนา และนิทรรศการมหัศจรรย์แห่งผลึก

จากการสำรวจของทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ พบว่า นิทรรศการที่ส่วนจากงานมหกรรมวิทยาศาสตร์นี้มีความแตกต่างแค่ขนาดพื้นที่และองค์ประกอบประกอบเท่านั้น และสำหรับใครซึ่งไม่เคยไปเยือนจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.เลย อาจจะหลงทางกันได้ เนื่องจากพื้นที่จัดแสดงนิทรรสการนั้นหลบอยู่ด้านหลังศูนย์หนังสือจุฬาฯ แต่หากใช้บันไดเลื่อนทางฝั่งร้านสุกี้ชื่อดัง ขึ้นไปยังชั้น 4 ก็จะพบโลกแห่งนิทรรศการวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่

ปกตินิทรรศการภายในจตุรัสวิทยาศาสตร์จะสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และครั้งนี้ได้นำนิทรรศการจากงานมหกรรมวิทยาศาสตร์เวียนมาจัดแสดง ซึ่งนายสาคร เผยว่า นิทรรศการทั้ง 6 ที่คัดสรรมาจัดแสดงนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก และให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี โดยในงานมหกรรมวิทย์ที่จัดถึง 14 วันนั้นมีผู้เข้าชมกว่า 1 ล้านคน ซึ่ง 80-90 % ของผู้เข้าชมเป็นชาวเชียงใหม่ และการยกนิทรรศการมาแสดงที่จตุรัสวิทยาศาสตร์จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับชาวกรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ เนื่องจากน่าจะเดินทางมาได้สะดวกยิ่งขึ้น

“นิทรรศการทั้ง 6 ชุดในงานมหกรรมวิทย์ที่จบไปนั้น ถูกจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ เพราะมีพื้นที่จัดงานมากกว่า 40,000 ตารางเมตร แต่เมื่อต้องนำมาจัดในพื้นที่จำกัดอย่างในศูนย์การค้า จึงต้องลดขนาดนิทรรศการลง แต่ยืนยันว่าความรู้ และเนื้อหาสาระยังคงอยู่เท่าเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้นิทรรศการโลกยุคน้ำแข็งหรือไอซ์เอจ นิทรรศการที่รวมเอาเหล่าบรรดาหุ่นยนต์สัตว์ยุคน้ำแข็งเคลื่อนไหวได้ และโครงกระดูกไดโนเสาร์ใหญ่ที่สุดในโลกจากประเทศอาร์เจนตินา อันเป็นไฮไลท์ของงานที่เชียงใหม่ ก็ได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ อพวช.คลองห้า ปทุมธานี และได้รับความสนใจจากเด็กและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก จนพื้นที่ของ อพวช.ในวันเสาร์-อาทิตย์แทบไม่เพียงพอกับจำนวนรถยนต์ที่เข้ามาชมนิทรรศการเลยทีเดียว” รอง ผอ.รักษาการแทน ผอ.อพวช.กล่าว

จากการสำรวจของทีมข่าววิทยาศาสตร์ พบว่าการจัดนิทรรศการแสดงต่อเนื่องกันเป็นรูปตัวยู (U) โดยเมื่อผ่านประตูเข้าไปยังส่วนแรกจะเป็นนิทรรศการชุด "ทำเกษตรอย่างฉลาด” ซึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบใหม่ ที่นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปช่วยวางแผนและวิเคราะห์พื้นที่ก่อนทำการเกษตรจริง อาทิ การใช้สัญญาณควบคุมระยะไกลหรือรีโมทเซนซิง (Remote sensing), การจับสัญญาณภาพที่ทำให้ทราบว่าลักษณะภูมิศาสตร์บริเวณไหนเป็นแบบใด, ระบบระบุพิกัดบนผิวโลกที่ใช้คลื่นจากดาวเทียมหลายดวงมาประกอบกันว่า พื้นที่นี้อยู่ส่วนใดของโลก, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ใช้ในการจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นอุปกรณ์จริงบนจอสัมผัสขนาดใหญ่ และโปรแกรมในสมาร์ทโฟนให้ผู้เข้าชมสามารถสัมผัสของจริงได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ อพวช.คอยให้ข้อมูลอย่างใกล้ชิด

ถัดเข้ามาอีกนิดจะเป็นส่วนของการทำเกษตรในครัวเรือนแบบประหยัดพื้นที่ โดยการปลูกผักในกระถางแนวตั้ง นวัตกรรมใหม่สำหรับคนที่บ้านมีเนื้อที่น้อย ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะความเป็นอยู่ของคนในสังคมปัจจุบัน และมุมผักสวนครัวในหม้อต้มยำ อาทิ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ที่มีวิธีการปลูกแบบง่ายๆ เขียนบรรยายไว้สำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็นมือใหม่ปลูกผักสวนครัว

ต่อมาทางด้านซ้ายมือ จะพบกับจอภาพขนาดใหญ่และแบบจำลองเส้นทางแม่น้ำ ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติของอาณาจักรล้านนาและเส้นทางการไหลของแม่น้ำสายสำคัญไว้โดยละเอียด ซึ่งอาณาจักรล้านนาตั้งอยู่ทางภาพเหนือของประเทศไทย เป็นอาณาจักรที่ก่อตั้งขึ้นตามสายน้ำ มีสัตว์น้ำประจำถิ่นและนกอยู่มากจากสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดภูมิปัญญาเกี่ยวกับน้ำมากมาย ทั้งข้าวของเครื่องใช้ และเรือหางแมงป่อง

ด้านในสุดเป็นที่ตั้งของนิทรรศการผลึก ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานมหกรรมวิทย์ เนื่องจากปี 2557 นี้เป็นปีผลึกสากลที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้กำหนดขึ้น เพื่อระลึกถึงวิชาผลึกศาสตร์ และประโยชน์จากการศึกษาโครงสร้างผลึก ที่ทำให้เกิดการต่อยอดกลายเป็นความรู้ใหม่อีกหลายแขนง และถือเป็นประกายไฟเล็กๆ ที่ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นในหลายสาขาวิชา ทั้งทางด้านชีววิทยาและเคมี

สำหรับนิทรรศการผลึกนี้มีความพิเศษกว่านิทรรศการอื่น สิ่งแรกที่จะได้พบคือ ผลึกชนิดต่างๆ จำนวนมาก เรียงรายอยู่ 2 ข้างทาง บางก้อนผลึกส่องแสงระยิบระยับสวยงาม เมื่อเดินเข้าไปด้านในทีมข่าววิทยาศาสตร์พบว่ามีโครงกระดูกจำลองของมนุษย์ตั้งอยู่ ซึ่งเผยให้ทราบว่าภายในร่างกายของเราประกอบไปด้วยผลึก หรือแม้แต่เครื่องอุปโภคที่ใช้กันอยู่ทุกวัน อย่างน้ำตาลทราย ผงชูรส หรือแม้กระทั่งน้ำ ทุกอย่างล้วนมีผลึกเป็นของตัวเอง มากกว่านั้นนักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนยังรู้ด้วยว่า ดีเอ็นเอมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จากการศึกษาโครงสร้างผลึกภายหลังการฉายรังสี นอกจากนี้ยังมีมุมโมเดลผลึกให้เด็กเล็กได้ลองเล่นกัน

ท้ายสุดกับนิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ (Science idol) เป็นนิทรรศการที่อยู่ทางด้านในสุดของชั้น 4 อพวช. ซึ่งรวบรวมผลงานของนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ของประเทศไทย และนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกไว้ รวมถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวงการวิทยาศาสตร์ไทย” ให้ทุกคนได้ร่วมชื่นชมและระลึกถึงผลงานทางวิทยาศาสตร์อันทรงคุณค่า

ภายในนิทรรศการเส้นทางนักวิทย์มีรูปขนาดเท่าตัวจริงของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ อาทิ ว่าที่นักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่เดินทางไปวิจัยที่ขั้วโลกใต้ เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการได้ถ่ายรูปคู่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำความรู้จักนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ แล้ว ยังเป็นการจุดประกายให้เด็กเกิดความรัก และแรงบันดาลใจอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์

"หากใครมาเยี่ยมชมนิทรรศการรวมมิตรเรื่องวิทย์ใกล้ชิดเทคโน ที่ อพวช. จามจุรีสแควร์ ผมแนะนำ อย่าพลาดชม นิทรรศการผลึก เพราะยูเนสโกตั้งให้ปีนี้เป็นปีผลึกศาสตร์สากล เพื่อระลึกถึงวิชาผลึกศาสตร์ที่ภายในเราเนรมิตขึ้นอย่างสวยงาม สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับผลึกในชีวิตประจำวันไว้อย่างมากมาย และมุมเส้นทางนักวิทย์ที่นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับผลงานนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ของไทยและของโลกแล้ว ยังเป็นการจุดประกาย เสริมสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์อีกด้วย" นายสาคร เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ผู้สนใจสามารถร่วมสัมผัสประสบการณ์ใกล้ชิดวิทย์กลางกรุงได้ที่ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 ศูนย์การค้าจามจุรีสแควร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งนิทรรศการ “รวมมิตรเรื่องวิทย์ ใกล้ชิด เทคโน 2014” นี้จัดขึ้นไปจนถึงสิ้นปี 2557 ตั้งแต่เวลา 10.30-19.30 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2160-5356
รศ.ดร.วีระพงศ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยี่ยมชมนิทรรศการ
นิทรรศการทำการเกษตรอย่างฉลาด Smart Farming
ภายในนิทรรศการทำการเกษตรอย่างฉลาด Smart Farming
การใช้รีโมทเซนซิงเพื่อการเกษตร
การใช้จีพีเอสเพื่อช่วยในการวิเคราะห์และวางแผนพื้นที่ก่อนทำเกษตร
การทำเกษตรแบบโซนนิ่ง
เครื่องวัดค่าดินเปรี้ยวในนิทรรศการเกษตร
เครื่องวัดค่าความสมบูรณ์ของดิน
การทำเกษตรในครัวเรือนแบบแนวตั้ง ช่วยประหยัดพื้นที่
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  พร้อม รองผอ.อพวช. เดินชมนิทรรศการ
น้องโรม อายุ 4 ขวบชื่นชอบนิทรรศการลุ่มน้ำล้านนา
สัตว์ประจำถิ่น และเครื่องมือหากินภูมิปัญญาชาวล้านนา
สัตว์ประจำถิ่นลุ่มน้ำล้านนา
นิทรรศการผลึก ไฮไลท์ของงนิทรรศการในครั้งนี้
ผลึกแคลไซต์ และมุกดา ส่องแสงสวยงาม
ในร่างกายมนุษย์มีผลึกด้วยหรือ ?
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ อธิบายเนื้อหานิทรรศการแก่ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ
รู้หรือไม่ ?? .. โครงสร้างดีเอ็นเอถูกค้นพบโดยผลึกศาสตร์
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ อธิบายเนื้อหานิทรรศการแก่ รศ.ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ
นิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ อีกนิทรรศการหนึ่งที่ไม่ควรพลาด
รศ.ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ยืนชมผลงานพระบิดาวิทยาศาสตร์






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น