สกว.จัดพิธีมอบโล่เกียรติยศแก่นักวิจัยผู้มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมทั้งเชิงวิจัยและพัฒนา เชิงวิชาการ และเชิงพัฒนาท้องถิ่นและพื้นที่ รวม 16 รางวัล เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นตัวอย่างในการสร้างผลงานที่มีคุณค่าแก่ประเทศ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดพิธีมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยดีเด่น สกว. ประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.57ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร โดย รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า สกว. ได้ทำการคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี '56 เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างผลงานที่มีคุณค่าแก่สังคมไทยและพัฒนาไปสู่สังคมอุดมปัญญา โดยในปีนี้มีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 16 โครงการใน 3 กลุ่มงาน ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกผลงานนั้นป็นไปอย่างเข้มข้น จากการคัดเลือกผลงานวิจัยกว่า 1,600 ผลงานต่อปีให้เหลือที่ดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ และต่อยอดได้ดีที่สุด 16 ผลงานซึ่งนับเป็น 1% ของผลงานวิจัยในปีหนึ่งๆเท่านั้น
"การทำงานและการสนับสนุนของ สกว.มีมาอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 20 ปี ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่กำลังก้าวผ่านไปสู่สิ่งใหม่ๆ สกว.จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงไปของสังคม เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระดับประเทศ ขอขอบคุณนักวิจัยทุกท่านอีกครั้ง ที่มีความพยายามในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่จะพาประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศแห่งการวิจัยต่อไป" รองผอ.สกว. กล่าว
ทางด้าน ศ.นพ. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ประธานในพิธี กล่าวว่า งานในครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับนักวิจัยที่จะนำความรู้ที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ มาช่วยในการพัฒนาประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมาสกว. มุ่งสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัย โดยมุ่งสร้างความรู้ที่ไม่จำกัดเพียงแค่ด้านวิชาการ แต่เป็นการรวมกันของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับบถคคลากร พื้นที่ และชุมชน รวมถึงการสร้างทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศ และการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์
"การทำงานและการสนับสนุนของ สกว.เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้งานวิจัยก่อเกิดประโยชน์และประสบความสำเร็จได้ แต่ต้องประกอบขึ้นด้วยความทุ่มแทและกำลังกายจากนักวิจัยและทีม ที่จะเป็นเครื่องผลักดันให้งานวิจัยสามารถประสบความสำเร็จในที่สุด" ศ.นพ. ไกรสิทธิ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในเรื่องการวิจัยกับการพัฒนาประเทศ" โดยระบุว่า เทคโนโลยีทุกวันนี้มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่ผลิตความรู้จะเป็นผู้กำหนดราคาเทคโนโลยี ในขณะที่ประเทศที่ยากจนและไม่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีจำเป็นต้องนำเข้าและจ่ายเป็นจำนวนมากๆ เพื่อแลกกับเทคโนโลยีราคาแพง จากประเทศที่พัฒนาแล้ว
"ราคาที่ประเทศมหาอำนาจกำหนด ไม่ได้กำหนดขึ้นด้วยราคาของต้นทุนแต่เป็นการกำหนดขึ้นด้วยมูลค่าตามความต้องการทางการตลาด ที่ประเทศเราจำเป็นต้องหนีจากการเป็นประเทศที่นำเข้าและพึ่งพาความรู้ และพัฒนาตัวเองสู่การเป็นประเทศที่ผลิตความรู้ให้ได้ โดยอาศัยงานวิจัยแและการพัฒนานักวิจัยที่มีศักยภาพมาเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยของเราเข้าสู่การเป็นประเทศแห่งการวิจัย ด้วยการบูรณาการกันระหว่างพลังนักวิชาการ พลังท้องถิ่นและพลังชุมชน" ศ.นพ.จรัสกล่าว
ในส่วนของผลงานที่ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 16 โครงการใน 3 กลุ่มงานประกอบด้วย
กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1. การติดตามกระแสการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่อากรศุลกากร สำหรับสินค้าไทยส่งออกไปต่างประเทศ โดย รศ. ดร.นิรมล สุธรรมกิจ และคณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. การพัฒนากรอบการดำเนินงานและฐานข้อมูลเพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดการประเมินวงจรชีวิต โดย รศ. ดร.พจพจน์ เปี่ยมสมบูรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. การศึกษาความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมท้องถิ่นสมัยอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณในพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและคาบสมุทรมลายา ระยะที่ 2 โดย พ.อ. รศ. ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 4. เครือข่ายกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน โดย คุณอรุษ นวราช 5. การวิจัยและพัฒนายางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์ประหยัดพลังงาน โดย ผศ. ดร.กฤษฎา สุชีวะ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มงานวิจัยเชิงวิชาการและมนุษยศาสตร์ จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ 1. การศึกษาฤทธิ์ของ cyclin D1-CDK4 ในขบวนการตอบสนองหลังจากเกิดการทำลายของ DNA โดย ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย มหาวิทยาลัยมหิดล 2. การพัฒนาหน่วยแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกจากก๊าซชีวภาพหรือก๊าซธรรมชาติ โดยใช้กระบวนการเมมเบรนคอนแทคเตอร์ โดย ศ. ดร.รัตนา จิระรัตนานนท์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3. การศึกษาคุณลักษณะและความสัมพันธ์ของฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งกับฮอร์โมนที่กระตุ้นต่อมสืบพันธุ์ของกุ้งและปูกับการประยุกต์ใช้ในระบบเพาะเลี้ยง โดย ศ. ดร.ประเสริฐ โศภณ มหาวิทยาลัยมหิดล 4. การผลิตแอนติบอดีสำหรับรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีและการสร้างฟาจไลบราลีที่ดิสเพลย์มินิบอดีหรือนาโนบอดี โดย ศ. ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา มหาวิทยาลัยมหิดล 5. ความหลากหลายทางโครงสร้าง การเปลี่ยนเฟสทางโครงสร้างเชิงพลวัตและสมบัติทางแม่เหล็กของโครงข่ายผสมระหว่างโมเลกุลอนินทรีย์และโมเลกุลอินทรีย์ โดย ดร.เจ้าทรัพย์ บุญมาก และ ศ. ดร.สุจิตรา ยังมี 6. คาร์บอนนาโนทูปสำหรับการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าและเทคนิคเชิงแสง โดย น.ส.วิลาสินี จุ้งลก และ รศ. ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สุดท้ายคือกลุ่มงานวิจัยเชิงพัฒนาท้องถิ่นและพื้นที่ จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1. การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักกยภาพการผลิตข้าวโพดแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดย นางสุวรรณา เมืองพระฝาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาบัว 2. การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการธุรกิจเกษตร: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์กับเครือข่ายเกษตรกรองค์กรท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์และภาคี โดย ผศ. ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ 3. การสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดย ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ ส.ป.ก. 4. การศึกษารูปแบบการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนและชุมชน นายสองศรี แสงศรี 5. โครงการอ่าวปัตตานี ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูอ่าวปัตตานี โดย น.ส.สุวิมล พิริยธนาลัย
*******************************
*******************************