ในการพัฒนาการขนส่งระบบรางมักหยิบยกเรื่องขนาดรางของแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากันมาเป็นประเด็น ทว่านักวิชาการดัานระบบรางระบุว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ปัญหา เพราะหลายประเทศกำลังพัฒนาระบบปรับขยายล้อให้สอดคล้องกับขนาดราง โดยเฉพาะเกาหลีและรัสเซียที่มีโครงการเชื่อมเส้นทางรถไฟและกำลังทดลองระบบดังกล่าว
นายนคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโครงการพัฒนาขนส่งระบบราง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว ในการพัฒนาการขนส่งระบบรางนั้นมักหยิบเรื่องขนาดรางมาคุย ทั้งที่ความจริงแล้วขนาดรางทั่วโลกนั้นมีความหลากหลาย และแก้ไขได้
นายนครยังได้ชี้ถึงสิ่งที่เป็นปัญหาของระบบขนส่งและสามารถแก้ไขด้วยระบบรางได้ว่า ภาคขนส่งของไทยนั้นใช้น้ำมันมากถึง 37% ของการใช้พลังงานทั้งไมดของประเทศ และยังเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุจากการขนส่งสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่วนต้นทุนของระบบขนส่งนั้นก็สูง 15-17%ของจีดีพี เพราะเราใช้ระบบรางเพียง 2% และเส้นทางรถไฟกว่า 4,000 กิโลเมตรที่มีอยู่นั้นก็เป็นรางเดี่ยวถึง 93%
ทางด้าน ดร.รัฐภูมิ ปริชาติปรีชา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและราง มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ระบุว่า นวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาความต่างของระบบรางได้ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีขยายช่วงล้อ เพื่อให้ขบวนรถสามารถวิ่งบนร่างที่มีขนาดต่างกันได้
"หลายประเทศกำลังศึกษาและพัฒนาในเรื่องนี้ เพราะต้องการเชื่อมต่อเส้นทาง ตัวอย่างเช่น เกาหลีและรัสเซียที่ต้องการเชื่อมเส้นทางระบบราง ได้ลงทุนวิจัยระบบขยายขนาดล้อสำหรับติดที่แคร่รถไฟ หรือ guage changable system ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นทดลอง" ดร.รัฐภูมิเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV - ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน
นักวิชาการระบบรางจาก มน.ให้ความเห็นอีกว่า การพัฒนาระบบรางควรเป็นวาระแห่งชาติ และยกตัวอย่างว่า หลายประเทศพัฒนาระบบรางอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น สหรัฐฯ ที่ประชาชนผลักดันในเรื่องนี้ใช้เวลาเตรียมพร้อมนาน 10 ปี หรือ จีน ซึ่งพัฒนาระบบรางดีเซลอย่างเต็มที่ก่อนขยับขึ้นไปพัฒนารถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
ส่วนไทยนั้น ดร.รัฐภูมิควรเริ่มพัฒนาจากรถไฟรางคู่ก่อน แล้วค่อยปรับสู่ระบบไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงต่อไป เพราะหากกระโดดไปทำรถไฟความเร็วสูงเลย เป็นเรื่องอันตราย เปรียบเสมือนเด็กอนุบาลข้ามขั้นไปเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเราควรสั่งสมองค์ความรู้เหมือนที่หลายประเทศดำเนินการมา
สอดคล้องความเห็นของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ที่กล่าวว่า ทุกประเทศที่พัฒนาระบบรางนั้นมีขั้นตอนในการพัฒนา จากรางเดี่ยว ขยับไปเป็นรางคู่ จากระบบดีเซลเปลี่ยนไปเป็นระบบไฟฟ้า ส่วนรถไฟความเร็วสูงพูดวันนี้ได้ แต่ไม่ใช่ทำวันนี้
นอกจากนี้ นายกสมาคม วสท. ยังชี้ด้วยว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาในการพัฒนาระบบราง แต่ที่เป็นปัญหาตอนนี้คือการขาดแคลนกำลังคน รวมถึงโครงสร้างการบริหาร ซึ่งต้องปฏิรูปในเรื่องนี้ และใช้โอกาสนี้พัฒนาระบบรางคู่ไปควบคู่กัน
ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ณ โรงแรม ดับเบิลยู กรุงเทพฯ เรื่องการจัดงาน "วิศวกรรม'57 วิศวกรรมสำหรับอนาคต" ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 พ.ย.57 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา