ถ้าเราล่องเรือตามลำแม่น้ำ Rhine โดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ระหว่างเมือง Mainz กับ Köln ประเทศเยอรมนี เราจะตื่นตา ตื่นใจกับปราสาทโบราณจำนวนมากที่ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ แต่ปราสาทเหล่านี้มิใช่สำหรับให้เจ้าชาย เจ้าหญิง หรือพระราชาประทับ ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ๆ ขุนนางชั้นสูงใช้เก็บภาษีจากเรือโดยสาร และเรือสินค้าที่แล่นผ่านไปมาเท่านั้นเอง
เยอรมนีในยุคกลางเป็นประเทศที่มิได้มีความสงบสุขและสันติ เพราะบรรดาเจ้าชายต่างต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเพื่อควบคุมการสัญจรในแม่น้ำที่มีเรือสินค้าเดินทางขึ้น-ล่องตลอดเวลา ดังนั้น บรรดาราชนิกูลจึงโปรดให้มีการสร้างปราสาทขึ้นตามฝั่งแม่น้ำ เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บค่าธรรมเนียมจากเรือมาเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง จนเจ้าชายบางองค์ได้รับการถวายพระฉายาว่า “เจ้าชายโจร” เพราะได้ขูดรีด เก็บค่าธรรมเนียมจากชาวบ้านในอัตราที่สูงมาก
เหตุการณ์นี้ทำให้พ่อค้าในเมืองต่างๆ บนฝั่งแม่น้ำ Rhine ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เวลาส่งสินค้าจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง ดังนั้นจึงได้รวบรวมพลังเพื่อจัดตั้งสันนิบาตแห่งเมืองบนฝั่งแม่น้ำ Rhine (League of Rheinish Cities) ขึ้นใน ค.ศ.1254 เพื่อท้าทายและต่อต้านอำนาจของอำมาตย์ จนถึงปี ค.ศ.1272 เมื่อจักรพรรดิ Rudolf ที่ 1 ได้ประทานความช่วยเหลือแก่ชาวเมือง โดยส่งทหารเข้าล้มล้างระบบเจ้าชายโจรจนหมดสิ้น ความสงบสุขและสันติก็ได้กลับคืนสู่ลุ่มน้ำ Rhine อีกครั้งหนึ่ง
Ludwig Richter คือจิตรกรชาวเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นผู้รักชาติมากคนหนึ่ง ในการรักเยอรมนี เขาหมายถึง ประชาชนทั่วไปและขนบธรรมเนียมประเพณีมิใช่ชนชั้นสูง และได้แสดงออกด้วยการวาดภาพมากมาย เช่น Schreckenstein Crossing ในปี 1837 ซึ่งแสดงปราสาท ชีวิตในธรรมชาติและธรรมชาติของผู้คนที่อาศัยในแถบแม่น้ำ Rhine และภาพนี้เป็นที่ชื่นชมของชาวเยอรมันทุกคนจนทุกวันนี้
Ludwig Richter เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1803 (ตรงกับรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ที่เมือง Dresden ในเยอรมนี บิดาเป็นช่างแกะสลักจึงคาดหวังจะให้บุตรชายเจริญรอยตาม แต่ Richter ต้องการวาดภาพมากกว่า กระนั้นก็จำเป็นต้องตามใจบิดา Richter จึงเริ่มฝึกงานกับบิดาตั้งแต่อายุได้ 12 ปี
เมื่ออายุ 20 ปี ลูกค้าคนหนึ่งของบิดาได้ให้เงินสนับสนุน Richter เดินทางไปศึกษาวิชาศิลปกรรมที่อิตาลีซึ่งเป็นสถานที่ๆ Richter ต้องการไปเยือนมาก จึงเดินทางไป Rome เพื่อวาดภาพทิวทัศน์และประวัติศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี ภาพสำคัญที่ Richter วาดจากประสบการณ์นี้คือภาพ Thunderstorm in the Sabine Mountains
เมื่อกลับถึงบ้านเกิดเมืองนอน Richter ได้เปิดโรงเรียนสอนวิชาวาดภาพประดับเครื่องปั้นดินเผาที่โรงงานในเมือง Meissen แต่ไม่รู้สึกสบายใจนัก เพราะบรรยากาศทำงาน และสิ่งแวดล้อมไม่อำนวยให้สามารถคิดสร้างสรรค์ได้เลย Richter จึงโหยหาโอกาสที่จะกลับไปอิตาลีอีก
จุดเปลี่ยนของชีวิตได้เกิดขึ้นในช่วงปี 1835 เมื่อ Richter ได้สังเกตเห็นว่า ขณะที่เดินทางไปเมือง Aussig ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ เขาได้ถามตนเองว่า เหตุใดเขาจึงต้องการแรงดลใจในการวาดภาพจากต่างแดน ในขณะที่ในเยอรมนีก็มีสิ่งที่สามารถเป็นแรงดลใจได้มากมาย
ดังนั้น เมื่อเดินทางถึงเมือง Aussig เขาจึงได้วาดภาพสเก็ตซ์ของ ปราสาท Schreckenstein ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ Elbe ขณะเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินเล็กน้อย
ความสนใจของเขามุ่งตรงไปที่ชายชราคนหนึ่งซึ่งกำลังแจวเรือนำผู้โดยสารชาย หญิง และเด็กรวม 7 คนข้ามแม่น้ำอย่างสงบ ขณะท้องฟ้าในยามโพล้เพล้เป็นสีทอง
ณ วันนี้ภาพวาดขนาด 116 x 156 เซนติเมตรถูกติดตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลป์ Staatliche Kunstsammlungen แห่งเมือง Dresden ในประเทศเยอรมนี และกำลังดึงดูดคนที่เข้าชมภาพให้เข้าใจแนวคิดของ Richter ว่า ถึงภาพที่วาดไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของเยอรมนีในเวลานั้น เพราะเยอรมนีกำลังจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีโรงงานเครื่องจักร และความโกลาหล วุ่นวาย ฯลฯ แต่ภาพก็น่าประทับใจเพราะภาพของ Richter แสดงชาวเยอรมันในสมัยก่อนในบรรยากาศที่มีแต่ความสงบ เงียบ และสุข
ในภาพเราจะเห็นผู้โดยสารเรือหลายคนที่มีความแตกต่างกันทั้งอาชีพและวัย ชายชราคนที่นั่งหัวเรือกำลังเล่นพิณใหญ่ และใช้เสียงเพลงที่ตนขับร้องให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ ฟังเป็นค่าโดยสารของตนในการข้ามแม่น้ำ
ในสมัยนั้นพิณใหญ่เป็นที่นิยมเล่นเฉพาะในโรงละคร concert เท่านั้น และมีขนาดใหญ่กว่าพิณที่ชายชราถือเล่น พิณที่มีขนาดเล็กนี้จึงเหมาะสำหรับพวกวณิพกใช้เล่นดนตรีหาเงินตามถนนหนทางหรือในโรงแรมเล็กๆ และคนที่เล่นมักร้องเพลงพื้นเมืองประกอบเพลงที่ตนบรรเลงด้วย
บริเวณกลางเรือมีหนุ่มนักเดินทางซึ่งกำลังเงยหน้าจ้องมองที่ปราสาท Schrenkenstein ซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผาสูง ลักษณะท่าทางเสมือนกำลังตกอยู่ในพวังแห่งการถวิลหาอดีตที่ประเทศของตนเคยมีความสงบสุข แต่ขณะนั้นไม่มีเลย เพราะเยอรมนีกำลังถูก Napoleon รุกราน ส่วนเจ้าเมืองต่างๆ ก็กำลังวิวาทและต่อสู้กันเอง นอกจากนี้บรรยากาศของการเรียนรู้วิชาการต่างๆ ก็ถูกกำจัดจนหมดสิ้นโดยบรรดาขุนนาง จนทำให้ Richard Wagner ต้องต่อสู้กับอิทธิพลทางการเมืองที่เมือง Dresden ด้าน Heinrich Heine ต้องหนีไปปารีส และ Joseph Görres ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Rheenische Merkur ต้องหนีไป Strasbourg เป็นต้น
Richter เป็นคนที่นิยมการต่อต้านในลักษณะเงียบๆ จึงไม่ได้หนีไปไหน แต่หนีกลับสู่อดีตคือในยุคที่คนเยอรมันทุกชนชั้นดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และประเทศมีความยิ่งใหญ่ด้วยอารยธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีทั้งปราสาท และศิลปวัตถุมากมาย เขาจึงเป็นคนรักชาติผู้ไม่ชอบเล่นการเมือง และชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่แสดงความเป็นชาติเยอรมัน
เมื่อครั้งที่เดินทางกลับจากอิตาลีใหม่ๆ Richter เคยตั้งใจจะวาดวาดภาพของแม่น้ำ Rhine, Danube และ Elbe ทั้งสามสายที่ไหลผ่านเยอรมนี แต่เขาไม่มีโอกาสทำ เพราะในแม่น้ำเหล่านี้ ณ เวลาที่ Richter วาดภาพ Schrenkenstein Crossing เรือกลไฟได้เข้ามาแทนที่ม้าและเรือใบ ในประเทศเยอรมนีมีการขยายคลอง ถนนหนทางใน Dresden เริ่มมีรถจักรไอน้ำ รถไฟแล่น รวมถึงมีการตัดถนนหลายสายผ่านทุ่งนานอกเมือง คนทั้งประเทศมีอาการเห่อ และคลั่งเครื่องจักร ซึ่งเป็นอะไรที่ Richter ไม่ยอมรับ เขาต้องการวาดภาพชีวิตของผู้คนที่มีความสงบและสุขมากกว่าชีวิตที่มีความโกลาหล ความเศร้า และการสูญเสีย ดังนั้นเขาจึงพยายามต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นด้วยภาพของมาตุภูมิในอดีตที่ไม่มีอีกต่อไปในปัจจุบัน
ในการทำเช่นนี้ Richter ได้พยายามชี้ให้เห็นชีวิตของชาวบ้านชนบทในหมู่บ้าน และเมืองเล็กๆ ที่ทุกคนรู้จักทุกคน และเวลามีเทศกาลต่างก็จะมาร่วมด้วยช่วยกันในกิจกรรมแทบทุกเรื่อง แต่เมื่อประชากรของประเทศมีมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านเริ่มลดน้อยลง สมาชิกในครอบครัวเริ่มแยกห่างจากกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ชัดในกรณีวันคริสต์มาส เพราะในศตวรรษที่ 18 คริสต์มาสคือเทศกาลศาสนาที่ชุมชนทั้งหมู่บ้านจัดงานฉลองร่วมกัน แต่เมื่อเริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 19 คริสต์มาสคืองานในครอบครัว จากเดิมที่ผู้คนฉลองการประสูติของพระเยซูร่วมกันมาเป็นการฉลองวันประสูติ และการรวมญาติในครอบครัว ในส่วนของงานแต่งงานก็เช่นกัน พิธีสมรสในอดีตเป็นงานของคนทุกคนในหมู่บ้านที่จะมาแสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาว แต่เมื่อถึงยุคของ Richter งานสมรสเป็นงานส่วนตัว งานแต่งงานของ Richter เองในปี 1827 ก็มีแขกมาร่วมงานเพียงไม่กี่คน
สำหรับชายหนุ่มและหญิงสาวที่นั่งอยู่กลางเรือ ผู้ชายกำลังใช้มือจับมือของฝ่ายหญิงที่กำลังถือช่อดอกไม้ ใบหน้าของคนทั้งสองเอียงเข้าหากัน แม้จะไม่มีคำพูดใดๆ แต่สายตาที่เขาดูเธอ แสดงความผูกพันที่มีต่อกัน และความสุข
ความสำเร็จของ Richter ในการทำให้ภาพของเขาเป็นที่ชื่นชมของคนทุกคนในเยอรมนีคือ เขาได้นำภาพชีวิตในอดีตที่มีความอบอุ่น และความสุขมาให้คนปัจจุบันดู โดยการจัดให้คนทุกคนในภาพมีความกลมกลืนในด้านอารมณ์ ทั้งคนพายเรือ เด็กชายที่ใช้กิ่งไม้ตีน้ำข้างเรือ และผู้หญิงทั้งสองคนที่ปล่อยความรู้สึกไปกับเสียงเพลง และเนื้อเพลงจากคนเล่นพิณใหญ่ ขณะพระอาทิตย์กำลังตกดิน
เมื่ออายุ 38 ปี Richter ได้เป็นศาสตราจารย์แห่ง Dresden Academy ด้วยผลงานการวาดภาพของครอบครัว ชีวิตของชาวนาในบ้านหรือกลางทุ่งเด็กเล็กๆ และเด็กหนุ่มสาว รวมถึงบุคคลในเทพนิยายด้วย
ในปี 1874 ตาทั้งสองข้างของ Richter วัย 71 ปีเริ่มบอด เขาจึงหยุดวาดภาพและเสียชีวิตที่ Loschwitz ใกล้เมือง Dresden เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1884
อ่านเพิ่มเติมจาก Richter, Adrian Ludwig ใน Encyclopedia Britanica 23 จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press หน้า 312
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์