xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ต้องพึ่งเยอรมัน! เครื่องทดสอบ “พลาสติกวิศวกรรม” ผลงานไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เบ็ญจวรรณ กับตัวอย่างผง UHMWPE ก่อนขึ้นรูป ใช้งาน และเครื่องทดสอบ
สำหรับคนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นกับ “พลาสติกวิศวกรรม” ที่มีชื่อเรียกยากๆ ว่า “โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง” แต่ถ้าได้เห็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานแล้วอาจรู้สึกทึ่งกับพลาสติกที่ไม่มีให้เห็นดาษดื่นในชีวิตประจำวัน

เบ็ญจวรรณ ป้องนพภา ผู้จัดการส่วนเทคนิควิเคราะห์และเครื่องมือ ฝ่ายศูนย์วิเคราะห์และปฏิบัติการ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า โพลีเอทิลีนหรือ PE พลาสติกที่เห็นทั่วไปนั้นมีน้ำหนักโมเลกุลอยู่ในหลักแสน ขณะที่ “โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง” (UHMWPE) มีน้ำหนักโมเลกุลในหลักล้านขึ้นไป




“การที่พลาสติกมีมวลโมเลกุลสูงทำให้มี สัมประสิทธิ์ความเสียดทานต่ำ ทนต่อการสึกกร่อนและเสียดสีสูง แข็งแรงและทนต่อแรงกระแทกสูง และทนต่อสารเคมี ซึ่งมีการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย อาทิ เชือกลากเรือ หากพลาสติกทั่วไปจะมีขนาดเท่าแขน แต่ถ้าใช้ UHMWPE จะเหลือเส้นนิดเดียว หรือนำไปขึ้นรูปทำเขียง หรือผลิตฟันเฟืองในอุตสาหกรรมรถยนต์” เบ็ญจวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ การขึ้นรูป UHMWPE มีความยาก และแตกต่างจากพลาสติกทั่วไป ต้องใช้เครื่องจักรผลิตโดยเฉพาะ เพื่อให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ต่อเนื่อง จึงต้องพัฒนาเครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพต่างๆ ได้ตามมาตรฐานที่รองรับในแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาขึ้น

เบ็ญจวรรณ เผยว่า มีบริษัทเยอรมันยื่นข้อเสนอผลิตเครื่องทดสอบให้ในราคา 5 ล้านบาท แต่ทางบริษัทได้มองหาผู้ผลิตรายอื่น จนกระทั่งได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผลิตเรื่องดังกล่าวออกมาในราคาที่ถูกกว่า

ทั้งนี้ วว.และไออาร์พีซีได้ร่วมกันเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับโพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง ตามขั้นตอนการทดสอบของมาตรฐาน ISO 11542-2 และมาตรฐาน ASTM D4020-05 เพื่อยืนยันและตรวจสอบคุณลักษณะทางเทคนิคของผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูงที่ทางไออาร์พีซีผลิตขึ้นเองหรือซื้อจากผู้ส่งมอบ โดยใช้ระยะเวลา 7 เดือน และเป็นเครื่องเดียวในไทยที่ทดสอบได้อย่างต่อเนื่อง

นายยุทธนา ตันติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม วว.อธิบายการทำงานของเครื่องทดสอบดังกล่าวว่า ชิ้นงานทดสอบจะถูกยึดเข้ากับตัวยึด และมีตุ้มน้ำหนักถ่วงอยู่เพื่อให้ชิ้นงานทดสอบเกิดการยืดตัว โดยทำงานที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส และในการทดสอบสมบูรณ์ 1 ครั้ง มีการทดสอบย่อยจำนวน 6 ครั้ง พร้อมๆ กัน และใช้เวลาเพียง 30 นาที ซึ่งประหยัดเวลากว่าวิธีเดิม 6 เท่า จึงทดสอบตัวอย่างได้มากขึ้น
ถุงมือจาก UHMWPE ที่มีดตัดไม่ขาด
เส้นใยพลาสติก UHMWPE ถูกขึ้นรูปและทอเป็นแผ่นกั้นในแบตเตอรี่
 เส้นใยพลาสติก UHMWPE และการแปรรูปหลายอย่าง เช่น แผ่นกั้นเซลล์ในแบตเตอรี เสื้อกั้นกระสุน เป็นต้น






กำลังโหลดความคิดเห็น