xs
xsm
sm
md
lg

Doppler effect คืออะไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อินมาร์แซทของอังกฤษ ใช้หลักการดรอปเปลอร์ค้นหาทิศทางของเที่ยวบิน MH370
ล่าสุดโลกได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ ว่าหันหัวลงใต้มุ่งสู่มหาสมุทรอินเดียอันเวิ้งว้าง และคาดว่าตกลงกลางทะเล เบาะแสดังกล่าวเป็นผลจาก "อินมาร์แซท" บริษัทโทรคมนาคมดาวเทียมของอังกฤษ นำหลักการ Doppler effect มาใช้ติดตามเครื่องบิน

การนำปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ (Doppler effect) มาติดตามเครื่องบินนับเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว โดยเป็นปรากฏการณ์ที่เสนอโดย คริสเตียน ดอปเปลอร์ นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย เมื่อปี 1842

ปรากฏการณ์ดังกล่าวอธิบายถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงความถี่ของคลื่นสำหรับผู้สังเกตที่เคลื่อนที่สัมพัทธกับแหล่งกำเนิดคลื่น ซึ่งเรามักพบปรากฏการณ์นี้ตามท้องถนนเมื่อมีต้นกำเนิดเสียง (เสียงเป็นคลื่นอย่างหนึ่ง) อย่างเช่น เสียงหวอรถพยาบาลหรือรถกู้ภัยที่วิ่งผ่านเราไป เป็นต้น

ทุกขณะที่แหล่งกำเนิดเสียงหรือคลื่นเคลื่อนเข้าหาเรา คลื่นใหม่แต่ละลูกจะใช้เวลาเดินทางมาถึงผู้สังเกตน้อยกว่าคลื่นที่เกิดก่อนหน้า ทำให้ความถี่เพิ่มมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อแหล่งกำเนิดเสียงหรือคลื่นเคลื่อนออกจากเรา คลื่นใหม่แต่ละลูกจะใช้เวลามาถึงผู้สังเกตมากขึ้น ความถี่จึงลดลง

ปรากฏการณ์นี้ยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่ทั้งของผู้สังเกต แหล่งกำเนิดคลื่น และตัวกลางที่คลื่นใช้เดินทางด้วย

เราประยุกต์ใช้ปรากฏการณ์ดรอปเปลอร์ได้หลากหลาย อย่างเช่น การสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ก็ใช้ปรากฏการณ์นี้อธิบายว่าวัตถุท้องฟ้าที่สังเกตนั้นกำลังเคลื่อนที่เข้าเราหรือเคลื่อนที่ออกจากเรา โดยพิจารณาจากคลื่นแสง ซึ่งวัตถุที่มีแสงเลื่อนไปทางสีแดง (redshift) หมายถึงวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ออกจากเราซึ่งเป็นผู้สังเกต และปรากฏการณ์นี้เองเป็นเบาะแสส่วนหนึ่งว่า เอกภพกำลังขยายตัว เป็นต้น







กำลังโหลดความคิดเห็น