xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาพิษ “ต่อหัวเสือ” พัฒนาการวินิจฉัย-วัคซีนให้เหมาะกับคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวต่อ
สกว.- ศึกษาพิษและสารก่อภูมิแพ้จาก “ต่อหัวเสือ” พัฒนาการวินิจฉัย และวัคซีนตามสายพันธุ์ที่คนไทยแพ้

ผศ.ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าตัวต่อจัดเป็นแมลงมีพิษที่เป็นอันตรายมากเพราะอาจทำให้ผู้ที่ถูกต่อยมีอาการตั้งแต่เจ็บและบวมบริเวณที่ถูกต่อยไปจนถึงขั้นช็อก ไตวาย และเสียชีวิตได้ โดยเหล็กในซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ปลายสุดของลำตัวของแมลงชนิดนี้มีลักษณะเป็นทรงตรงคล้ายเข็มฉีดยา

“แมลงจะฉีดพิษเข้าร่างกายของผู้ที่ถูกต่อยทางเหล็กในโดยที่เหล็กในไม่หลุดออกจากลำตัวหลังจากต่อยแล้ว ดังนั้น เมื่อต่อยครั้งหนึ่งแล้วตัวต่อจะถอนเหล็กในออกอย่างรวดเร็วและต่อยซ้ำๆ ติดต่อกันได้อีกหลายครั้ง ซึ่งแตกต่างจากผึ้งที่ต่อยได้เพียงครั้งเดียวและฝังเหล็กในไว้บนผิวหนังแล้วตัวมันเองก็จะตายไป นอกจากนี้ตัวต่อยังสามารถส่งสัญญานเรียกพรรคพวกให้มาช่วยกันรุมต่อยได้อีกด้วย สภาวะเป็นพิษที่เกิดขึ้นจากการถูกตัวต่อต่อยจึงขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่ถูกต่อย และปริมาณพิษที่ได้รับ” ผศ.ดร.นิทัศน์ให้ข้อมูล

ทั้งนี้ โรคภูมิแพ้พิษตัวต่อจัดเป็นภาวะภูมิไวเกินชนิดที่ 1 ที่เกิดโดยสารก่อภูมิแพ้จากต่อมพิษเข้าไปกระตุ้นร่างกายของผู้ที่ถูกต่อยให้เกิดสภาวะภูมิแพ้ ซึ่งสายพันธุ์ของตัวต่อที่พบมากในประเทศไทย คือ “ต่อหัวเสือ” เมื่อถูกต่อหัวเสือต่อยบางคนอาจรู้สึกเจ็บและบวมเพียงเล็กน้อย และหายได้เองในวันต่อมา บางรายมีอาการปานกลาง ในขณะที่อาการของบางคนรุนแรงมากกว่า เช่น นอกจากจะปวดมากตรงบริเวณที่ถูกต่อย และคันแล้ว อาจมีอาการหน้ามืดเป็นลม มีเหงื่อออกมาก ตัวสั่น หาวบ่อยครั้ง มีลมพิษทั่วตัว และมีไข้ ในรายที่เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะหายใจลำบาก ตัวเขียวคล้ำ ความดันโลหิตต่ำจนช็อก เกิดภาวะการไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว และจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา      

“ปกติการวินิจฉัยผู้ป่วยที่สงสัยว่าแพ้พิษของแมลงเช่นตัวต่อจะทำโดยการทดสอบทางผิวหนัง ส่วนการรักษาผู้ป่วยจะทำโดยการฉีดวัคซีนที่เตรียมจากพิษของตัวต่อเข้าทางผิวหนังทีละน้อยต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยารุนแรงเมื่อถูกต่อยอีกในอนาคต แต่เนื่องจากน้ำยาวินิจฉัยและวัคซีน ที่ใช้ในการรักษาในปัจจุบันเป็นน้ำยาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาแพงและหายาก อีกทั้งยังสกัดมาจากตัวต่อต่างสายพันธุ์กับที่พบในประเทศไทยและสายพันธุ์คนไทยแพ้ จึงทำให้การวินิจฉัยและการรักษาไม่ตรงกับพิษของต่อหัวเสือที่เป็นสาเหตุการแพ้ของคนไทย” รศ.ดร.นิทัศน์ ระบุถึงปัญหา

 ดังนั้น จึงมีการศึกษาสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ จากพิษของต่อหัวเสือ การเตรียมน้ำยาวินิจฉัยและวัคซีนจากต่อหัวเสือให้ตรงกับสารที่คนไทยแพ้ ในโครงการ “การศึกษาพิษและสารก่อภูมิแพ้ทั้งหมดของตัวต่อที่คนไทยแพ้” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่ง รศ.ดร.นิทัศน์ ผู้วิจัยหวังว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การคัดกรองผู้ป่วย การประเมินสภาวะแพ้ของผู้ป่วยว่ามากน้อยเพียงใด รวมทั้งช่วยให้บริหารจัดการด้านการรักษาและการป้องกันผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดอาการรุนแรงเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ดียิ่งขึ้น และไม่ต้องซื้อน้ำยาจากต่างประเทศ

ทีมวิจัยได้เก็บต่อมพิษจากต่อหัวเสือและศึกษาโปรตีนทั้งหมด ที่มีในต่อมพิษของต่อหัวเสือด้วยวิธีทางโปรตีโอมิกส์ พบว่าสามารถแยกโปรตีนในต่อมพิษของต่อหัวเสือได้มากถึง 93 จุด และเมื่อนำโปรตีนในจุดเหล่านี้ไปศึกษามวลด้วยวิธี “แมสสเปคโตรมิทรี” (Mas-spectrometry) เพื่อวิเคราะห์ชนิดของโปรตีนด้วยการเทียบมวลของโปรตีนกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ในระบบสารสนเทศ พบว่าสามารถบอกชนิดของโปรตีนใน 51 จุดได้ ส่วนอีก 42 จุดยังไม่สามารถบอกชนิดได้ เนื่องจากฐานข้อมูลจำกัด

หลังทำการศึกษาสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในพิษของต่อหัวเสือด้วยวิธีทางวิทยาภูมิคุ้มกัน ทีมวิจัยพบว่ามีสารก่อภูมิแพ้ของต่อหัวเสือชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนหลายชนิดที่ผู้ป่วยไทยแพ้มากกว่า 50% เช่น ฟอสโฟไลเปสเอหนึ่ง ซึ่งคนไทยแพ้สารนี้ 100% อาร์จินีนไคเนส โปรตีนฮีทช็อกที่มีมวล 70 กิโลดัลตัน สารพิษก่อภูมิแพ้หมายเลขห้า ฟอสโฟไลเปสเอหนึ่งแมกนีฟิน เอนไซม์อีโนเลส  กลีเซอราลดีไฮด์-3-ฟอสเฟท-ดีไฮโดรจีเนส ไฮอาลูโรนิเดส และฟรุกโตสไบฟสอสเฟทอัลโดเลส

“ข้อมูลเหล่านี้ที่ค้นพบเหล่านี้นอกจากจะเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของสารพิษและสารก่อภูมิแพ้ในพิษของตัวต่อที่พบในประเทศไทยและคนไทยแพ้แล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนรักษาการแพ้พิษของต่อหัวเสืออย่างเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยต่อไป” ผศ. ดร.นิทัศน์กล่าวสรุป
รังต่อ
ผศ.ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง
การแยกเอาเหล็กในและพิษไปศึกษา






กำลังโหลดความคิดเห็น