สสวท.- เนื่องจากโรงเรียนเลยอนุกูลวิทยา ในจังหวัดเลย มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ซึ่งมาจากการปล่อยน้ำทิ้งจากโรงอาหาร เพราะโรงอาหารของโรงเรียนนั้นมีการปล่อยน้ำเสียออกมาทุกวัน และน้ำเสียที่ออกมาก็ได้รวมตัวกันอยู่ในบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์
ทีมนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเลยอนุกูลวิทยา จำนวน 3 คน ได้แก่ นายณรงค์ฤทธิ์ ฮดฤาชา น.ส.นันทวัน สิงหาคุณ และ น.ส.ออนกิริยา อุทะเสน จึงได้จัดทำ โครงงาน “เครื่องดักไขมัน” เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ โดยมีคุณครูวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน ได้แก่ ครูนิจวรรณ พิมคีรี และ ครูราตรี จันทะมลเป็นที่ปรึกษา
ทีมนักเรียนเผยว่าก่อนที่จะทำโครงงาน เริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ของโรงอาหาร โดยเฉพาะเส้นทางน้ำเสียในโรงอาหารที่ไหลลงไปยังบ่อบำบัด เพื่อคิดหากระบวนการทำงานให้เป็นระบบ นอกจากนั้น ได้มีการศึกษาหาความรู้ในเรื่องของกระบวนการกรองน้ำเสีย ปริมาณน้ำเสีย ได้มีการตรวจวัดปริมาณไขมันที่ได้จากน้ำเสีย ดูสถานที่ในการติดตั้งเครื่องและกำหนดขอบเขตเวลาในการทำงาน พร้อมทั้งวางแผนออกแบบเครื่องดักไขมัน
“ขั้นตอนการทำงานเริ่มจากออกแบบเครื่องกรองน้ำเสีย นั้น ได้มีการหาทำเลที่วางเครื่องดักไขมัน สร้างเครื่องดักไขมัน ตรวจสอบและแก้ไขข้อบกพร่อง ความรู้ที่ใช้ อาทิ การวิเคราะห์น้ำมันและไขมัน สมบัติของของเหลว หลักการของแบร์นูลลี หลักการจัดการน้ำเสีย คุณสมบัติหลักทางเคมีและฟิสิกส์ของน้ำ” นักเรียนทั้งสามเผย
ผลจากการทดลองใช้เครื่องดักไขมันที่นักเรียนประดิษฐ์ขึ้นเองนี้ พบว่า ค่าความเป็นกรด-เบส หรือค่า pH ของน้ำเสียจากโรงอาหารที่เก็บตัวอย่างในเดือน ม.ย.56 จาก 6.67 เพิ่มเป็น 7.20 ทำให้ค่า pH ของน้ำดีขึ้น และปริมาณไขมันเฉลี่ยลดลง โดยดักไขมันได้ 72.45%
ทว่าระหว่างการทดลองพบปัญหา เช่น น้ำทิ้งมีปริมาณมากเกินไป ถ้าทิ้งน้ำเสียไว้ที่เครื่องกรองน้ำนานจะมีกลิ่นเหม็นมาก การกรองตรงด้วยถ่านและหินจะมีประสิทธิภาพน้อย เป็นต้น แต่ทีมนักเรียนแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนระบบบำบัดน้ำเสียใช้งานได้จริง และติดตั้งเครื่องดักไขมันไว้ใช้อย่างถาวรบริเวณโรงอาหาร
นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า บ้านเรามีการเรียนการสอนที่ดีแล้ว แต่ขาดการนำไปใช้ในชีวิตจริงประจำวัน เราต้องมีการเรียนรู้เพื่อให้รู้จักแก่นแท้ของวิชานั้น แล้วพยายามทำความเข้าใจให้ตรงจุด ปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้ ซึ่งจะเป็นความรู้ที่ยั่งยืนกว่าการเรียนเพื่อจำโดยไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไร
“เคล็ดลับการเรียนของผมก็คือต้องรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ รู้ว่าเรียนวิชานี้เพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร การทำโครงงานนี้ทำให้ได้นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาได้จริง จากการแข่งขันฟิสิกส์สัปประยุทธ์ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลนี้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตผม ทำให้ผมกล้าและมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น อนาคตผมอยากเป็นนักวิจัยที่ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ” นายณรงค์ฤทธิ์กล่าว
ด้าน ครูนิจวรรณ ครูในโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นครูที่ปรึกษาโครงงานนี้ เล่าว่า นักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ตามแนวทางของ สสวท.ร่วมกับ สพฐ.โดยเทคนิคการสอนที่ใช้เสมอกับนักเรียนห้องเรียนพิเศษ และชั้นเรียนปกติคือ เน้นการสอนให้นักเรียนสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ท่องจำอย่างเดียว ให้เพื่อนได้ช่วยเพื่อน เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้โดยไม่ต้องรอคุณครูเป็นผู้สอนแต่ทางเดียว
“รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้สอนนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ได้ใช้ความรู้ความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน นักเรียนน่ารัก ตั้งใจและขยันศึกษาหาความรู้ ขอบคุณโครงการ สควค.ที่ปลูกฝังความเป็นครูที่ดี ให้ทุนการศึกษาเพื่อนำความรู้วิชาการต่างๆ มาพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้ที่มีความสามารถ เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม” ครูในโครงการ สควค.กล่าว