นักวิจัยในสหรัฐฯ พบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ดีดีทีเพื่อฆ่าแมลง กับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยพบผู้ป่วยมีระดับสารที่บ่งบอกถึงปริมาณสารเคมีสำหรับฆ่าแมลงดังกล่าวมากกว่าผู้มีสุขภาพปกติ แต่นักวิจัยอังกฤษชี้ว่ายังต้องศึกษาเพิ่มเติมให้แน่ชัด
การศึกษาดังกล่าวบีบีซีนิวส์ระบุว่า ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ลงวารสารจามานิวโรโลจี (JAMA Neurology) โดยเผยให้เห็นว่า ร่างกายของผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีระดับดีดีที (DDT) ยาฆ่าแมลงที่เคยใช้กันแพร่หลายในอดีต มากกว่าผู้มีสุขภาพแข็งแรงถึง 4 เท่า แต่นักวิจัยโรคอัลไซเมอร์ในสหราชอาณาจักรชี้ว่ายังต้องศึกษาให้ได้หลักฐานที่ชัดเจนกว่านี้เพื่อพิสูจน์ว่าดีดีทีมีผลต่อโรคสมองเสื่อม
สำหรับดีดีทีนั้นเป็นยาฆ่าแมลงที่ให้ผลดีเยี่ยม ซึ่งแรกเริ่มนั้นถูกนำไปใช้เพื่อควบคุมโรคมาลาเรียในช่วงสิ้นสุดสงครามโลก 2* จากนั้นจึงถูกนำไปใช้เพื่อปกป้องผลผลิตทางการเกษตร แต่ก็มีข้อสงสัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร
จากนั้นในปี 1972 จึงมีการห้ามใช้ยาฆ่าแมลชนิดนี้ในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ แต่จากองค์การอนามัยโลกยังคงแนะนำให้ใช้ดีดีทีเพื่อควบคุมโรคมาลาเรียต่อไป ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่า บางประเทศก็ยังคงใช้ยาแมลงชนิดนี้เพื่อควบคุมมาลาเรีย และดีดทีก็ยังคงเหลือตกค้างในรางกายมนุษย์ โดยแตกตัวเหลือเป็นดีดีอี (DDE)
จากการตรวจระดับดีดีอีในเลือดของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 86 ราย โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส (Rutgers University) และมหาวิทยาลัยอีโมรี (Emory University) ในสหรัฐฯ แล้วเปรียบเทียบกับผู้มีสุขภาพดี 79 รายที่มีอายุและพื้นเพใกล้เคียงกัน ผลพบว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีระดับดีดีอีมากกว่าผู้มีสุขภาพแข็งแรง 3.8 เท่า
ทว่าภาพดังกล่าวด็ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะผู้สุขภาพดีบางคนก็มีระดับดีดีอีสูง ขณะที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์บางรายกลับมีระดับสารดังกล่าวต่ำ และโรคอัลไซเมอร์ก็เกิดขึ้นก่อนจะมีการใช้ดีดีที ทั้งนี้ ทีมวิจัยเชื่อว่าสารเคมีดังกล่าวเพิ่มโอกาสในการเป็นอัลไซเมอร์ และก่อให้เกิดคราบแอมีลอยด์ (amyloid plaques) ซึ่งเป็นเป็นเครื่องหมายของโรคอัลไซเมอร์ และทำให้เกิดการตายของเซลล์ของสมอง
ศ.อัลเลน เลวีย์ (Prof Allan Levey) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease Research Centre) ในมหาวิยาลัยอีโมรีกล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาแรกที่พิสูจน์ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งผลกระทบนั้นใหญ่หลวงเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์จากพันธุกรรม
ด้าน ดร.เจสัน ริชาร์ดสัน (Dr.Jason Richardson) ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า ชาวอเมริกันยังคงได้รับสารเคมีดังกล่าว เนื่องจาก 2 ปัจจัยคือ สหรัฐฯ นั้นนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศอื่นๆ ที่ยังคงใช้ดีดีที และสารดีดีอีก็คงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานาน
ส่วน ดร.ไซมอน ริดลีย์ (Dr.Simon Ridley) หัวหน้าทีมวิจัยของศูนย์วิจัยอัลไซเมอร์สหราชอาณาจักร (Alzheimer's Research UK) กล่าวว่า จำเป้นต้องเน้นว่างานวิจัยของทีมในสหรัฐฯ นั้นเกี่ยวข้องกับดีดีทีที่ไม่ได้ใช้ในสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 แล้ว ซึ่งการศึกษาระดับเล็กๆ ข้างต้นชี้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างการได้รับดีดีทีกับโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเรายังไม่ทราบว่ายังมีปัจจัยอื่นที่อาจจะต้องนับรวมกับผลนี้หรือไม่ จึงต้องมีงานวิจัยอีกมากเพื่อยืนยันว่ายาฆ่าแมลงชนิดนี้มีผลต่อการก่อโรค