สำหรับบางคนแม้ในยามไม่มีปรากฏการณ์ใดๆ แต่การได้เฝ้ามองท้องฟ้าก็เป็นความอัศจรรย์ใจอยู่เสมอ ยิ่งมีปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยเวียนมาให้ชมยิ่งสร้างความประทับใจ สำหรับปี 2014 มีหลากหลายปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งมีทั้งเหตุการณ์ที่จะได้เห็นและไม่ได้เห็นในเมืองไทย
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ คัดเลือกปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าสนใจจากสเปซด็อทคอมซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2014 รวม 9 ปรากฏการณ์ดังนี้
20 มี.ค.ดาวเคราะห์น้อยความสว่าง “ดาวหัวใจสิงห์”
ในวันที่ 20 มี.ค. หนึ่งในดวงดาวที่ส่องสว่างมากที่สดในท้องฟ้าอย่างดาวหัวใจสิงห์ (Regulus) ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต (Leo) จะถูกบดบังรัศมีโดยดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อ 163 เอริโกน (Erigone) ซึ่งในระยะทางเคลื่อนที่ 72 กิโลเมตร เงาของดาวเคราะห์น้อยจะเคลื่อนตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งประชากรในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ตั้งแต่นิวยอร์กซิตีไปถึงออสเวโก ต่อเนื่องไปถึงออนทาริโอ แคนาดา จะเห็นดาวหัวใจสิงห์ดับวูบไปชั่วขณะเป็นเวลานานถึง 12 วินาที! (เฉพาะกรณีที่อยู่ตรงกลางแนวคราส) โดยไม่ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตา
14-15 เม.ย.ค่ำคืน M&M
ที่ชื่อว่าคืน M&M เพราะ “มาร์” และ “มูน” หรือดาวอังคารและดวงจันทร์จะสร้างปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเริ่มจากดาวอังคารที่จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 14 เม.ย.ที่ระยะ 92.4 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะใกล้ที่สุดนับแต่เมื่อเดือน ม.ค.2008 (แต่งานนี้ไม่เห็นดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์แน่นอน อ่านเพิ่มเติม 8 ปีซ้อน! ลือไม่เลิกดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์ /ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ) จะได้เห็นดาวอังคารเหมือนดาวฤกษ์สุกสว่างเป็นสีเพลิงใกล้เคียงดาวซิริอุส (Sirius) หรือดาวโจรในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่ส่องสว่างมากที่สุดในท้องฟ้ายามค่ำคืน
ต่อเนื่องในคืนเดียวกันของทางฝั่งอเมริกาเหนือจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ทำให้พระจันทร์เต็มดวงกลายสภาพเป็นดวงจันทร์สีแดงอิฐนานอยู่ 78 นาที และนับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดในอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 3.5 ปี ซึ่งชาวอเมริกันจะได้ตำแหน่งดีที่สุดในการชมปรากฏการณ์คราสครั้งนี้ ส่วนชาวเมืองแมริไทม์ในแคนาดาจะได้เห็นดวงจันทร์ลับขอบฟ้าไปก่อนจะเกิดคราสเต็มดวง
สเปซด็อทคมระบุอีกว่าสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ดวงจันทร์จะปรากฏใกล้กับดาวรวงข้าว (Spica) ที่สุกสว่าง ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ระหว่างเกิดคราส โดยดวงจันทร์และดาวรวงข้าวจะอยู่เคียงกันนานอยู่ 2 ชั่วโมงในช่วงเข้าสู่คราสเต็มดวง และจะอยู่ใกล้กันไประหว่างเกิดคราส
28-29 เม.ย.เกิด “วงแหวนแห่งไฟ” เหนือแอนตาร์กติกา
ปรากฏการณ์ “วงแหวนแห่งไฟ” หรือสุริยุปราคาวงแหวนจะเกิดขึ้นบริเวณที่ไร้คนอาศัยในวิลคส์แลนด์ (Wilkes Land) ของทวีปแอนตาร์กติกา ระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย. ขณะที่ในพื้นที่ออสเตรเลียจะเห็นเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน เนื่องจากเงาลบ (antumbral shadow) ที่เกิดจากดวงจันทร์อยู่ห่างโลกมากจนบังดวงอาทิตย์ไม่มิด ไม่เคลื่อนผ่านโลกโดยตรง แต่เฉียดแอนตาร์กติกาไป จึงทำให้สามารถคำนวณระยะเวลาการเกิดสุริยุปราคาวงแหวนได้
24 พ.ค. อาจมีฝนดาวตกจากสายธารดาวหาง
เป็นไปได้ว่าในวันที่ 24 พ.ค.นี้อาจจะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่สว่างสดใสในวันที่ 24 พ.ค. เนื่องจากคาดว่าโลกของเราจะเคลื่อนผ่านเข้าไปสายธารฝุ่นปริมาณมหาศาลที่ดาวหาง P/209 ลิเนียร์ (P/209 LINEAR) ดาวหางขนาดเล็กทิ้งไว้ในอวกาศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาจมีปริมาณฝนดาวตกหลาสิบดวงหรืออาจถึงหลายร้อยดวงต่อชั่วโมง
11 ส.ค.เกิด “ซูเปอร์มูน”
ในวันที่ 11 ส.ค.ดวงจันทร์จะเต็มดวงตอน 02.09 น.ตามเวลาประเทศไทย ดวงจันทร์จะเข้าสู่ระยะเต็มดวง ซึ่งเกิดขึ้นล่วงหน้าเพียง 9 นาที ก่อนที่ดวงจันทร์จะเข้าสู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในปี 2014 ที่ระยะ 356,896 กิโลเมตร ทำให้จันทร์เต็มดวงในครั้งนี้เรียกว่า “ซูเปอร์มูน” (supermoon) และคาดว่าจะทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่าปกติในอีก 2-3 วันถัดไป
18 ส.ค.สองดาวเคราะห์ “ศุกร์-พฤหัส” สุกสว่างเคียงกัน
ในวันที่ 18 ส.ค. ท้องฟ้าด้านล่างของทิศตะวันออกเฉียงเหนือเยื้องมาทางตะวันออก ดาวเคราะห์ที่สุกสว่าง 2 ดวง คือ ดาวศุกร์ และ ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ใกล้กันมาก โดยปรากฏห่างกันเพียง 2ใน 3 ของความกว้างปรากฏของดวงจันทร์บนท้องฟ้านั้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้ง่ายต่อการสังเกต
8 ต.ค.จันทรุปราเต็มดวง
จะเกิดจันทรุปราคาอีกครั้งสำหรับปี 2014 ในวันที่ 8 ต.ค.โดยพื้นที่ที่จะได้เห็นคือทางซีกตะวันตกของอเมริกาเหนือ หมู่เกาะฮาวาย เอเชียตะวันออก อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ และทางซีกตะวันออกของออสเตรเลีย และระหว่างปรากฏการณ์นี้หากส่องกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาก็จะได้เห็นแสงเรืองเขียวของยูเรนัสดาวเคราะห์ที่ปรากฏอยู่ใกล้ๆ ดวงจันทร์ระหว่างนั้นด้วย ซึ่งผู้สังเกตการณ์ในอลาสกาและแคนาดาตอนบนจะเห็นดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสระหว่างเกิดคราสเต็มดวงด้วย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
19 ต.ค.ดาวหางเฉียดดาวอังคาร
ในวันที่ 19 ต.ค. ดาวหาง C/2013 เอ1 (C/2013 A1) หรือซิดิงสปริง (Siding Spring) ที่ค้นพบโดย โรเบิร์ต เอช.แมคนอต (Robert H. McNaught) จากหอดูดาวซิดิงสปริง (Siding Spring Observatory) ในออสเตรเลีย จะเฉียดใกล้ดาวอังคาร ซึ่งใกล้ในระดับที่ส่วนโคมา (coma) ของดาวหางอาจจะผ่านชั้นบรรยากาศดาวอังคาร แล้วทำให้เกิดฝนดาวตกที่มองเห็นได้จากพื้นผิวดาวอังคาร
23 ต.ค. สุริยุปราคาบางส่วน
วันที่ 23 ต.ค.จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนจากการที่เงามัว (penumbral shadow) พาดผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ และบางส่วนทางตะวันออกของไซบีเรีย โดยบริเวณที่เกิดคราสบังดวงอาทิตย์มากที่สุดอยู่ที่ช่องแคบแมคคลินตอค (M'Clintock Channel) ในมหาสมุทรอาร์กติก ที่แยกเกาะวิคตอเรีย (Victoria Island) ออกจากเกาะปรินซ์เวลส์ (Wales Island) ในเขตปกครองนูวาวุต (Territory of Nunavut) ของแคนาดา ส่วนที่เหลือของอเมริกาเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังน้อยลงไป โดยทางแปซิฟิกนอร์ธเวสต์ (Pacific Northwest) และนอร์เทิร์นเพลนส์ (Northern Plains) จะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังไป 60%