xs
xsm
sm
md
lg

“ฉลาม” ยังเป็นมะเร็ง แย้งความเชื่อกินแล้วแก้เนื้อร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบเนื้อร้ายที่ปากล่างของฉลามขาวทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบมะเร้งในฉลามสปีชีส์นี้ (ไลฟ์ไซน์/Andrew Fox /Sam Cahir)
นักวิทยาศาสตร์รู้มานานกว่า 150 ปีแล้วว่าฉลามเป็นมะเร็งได้ แต่ยังมีความเชื่อว่าปลาชนิดนี้ไม่เคยเจ็บปวดจากเนื้อร้าย และความเชื่อผิดๆ ยังถูกส่งเสริมโดยผู้ค้ากระดูกอ่อนของฉลามว่า ช่วยรักษามะเร็งได้ และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียพบฉลามขาวมีเนื้องอกขนาดใหญ่ยื่นออกจากปาก

ไลฟ์ไซน์ระบุว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยในออสเตรเลียสังเกตพบก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ยื่นออกมาจากปากฉลามขาว เช่นเดียวกับที่เจอก้อนเนื้อขนาดใหญ่บนหัวของฉลามครีบด่าง (bronze whaler shark) โดยรายงานการศึกษาดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารเจอร์นัลอออฟฟิชดิซีส (Journal of Fish Diseases) อธิบายถึงก้อนเนื้องอกของฉลามขาวว่ามีขนาดยาว 1 ฟุต และกว้าง 1 ฟุต

ราเชล รอบบินส์ (Rachel Robbins) ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาในเรื่องนี้ และนักชีววิทยาฉลามจากมูลนิธิวิจัยฉลามฟอกซ์  (Fox Shark Research Foundation) ใกล้กับเมืองแอดิเลดทางตอนใต้ของออสเตรเลียบอกทางไลฟ์ไซน์ว่า สิ่งที่เห็นนี้เป็นเรื่องผิดปกติเพราะไม่เคยพบมาก่อนว่าฉลามขาวมีเนื้องอก โดยรวมแล้วนักวิทยาศาสตร์มีเอกสารรายงานมะเร็งในฉลามอย่างน้อย 23 สปีชีส์ ซึ่งรวมถึง 2 กรณีล่าสุดด้วย ซึ่งสารสำคัญจากการศึกษานี้คือหลักฐานเพิ่มเติมเรื่องการเกิดเนื้อร้ายในฉลาม ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อที่แพร่หลายว่า ฉลามไม่เป็นโรคร้ายชนิดนี้ 

ด้าน เดวิด ชิฟแมน (David Shiffman) นักวิจัยฉลามและนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไมอามี  (University of Miami) สหรัฐฯ ผู้ไม่ได้ร่วมกับงานวิจัยนี้ กล่าวว่า ฉลามเป็นมะเร็งได้ และแม้ฉลามไม่เป็นมะเร็ง แต่การกินอวัยวะของฉลามเข้าไปก็ไม่ได้ช่วยรักษาโรคมะเร็ง เปรียบเหมือนหากเขากิน ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ก็ไม่ได้ช่วยให้เขาเล่นบาสเกตบอลเก่งขึ้น

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางชิฟแมนกล่าวว่า ส่วนหนึ่งมาจากการส่งเสริมของคนที่ขายกระดูกอ่อนของฉลาม ซึ่งอ้างว่าจะช่วยรักษามะเร็งได้ แต่ไม่มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า กระดูกอ่อนของฉลามมีผลต่อการบำบัดรักษามะเร็ง และความต้องการอวัยวะเหล่านั้น ยิ่งช่วยทำให้ประชากรฉลามลดลง โดยงานวิจัยเมื่อเดือน มี.ค.2013 เผยว่า มนุษย์เราฆ่าฉลามถึงปีละประมาณ 100 ล้านตัว แม้ว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นำไปสู่การฆ่าฉลามด้วย ซึ่งรวมถึงความต้องการซุปหูฉลาม

นอกจากนี้ ชิฟแมนยังอ้างถึงงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารแคนเซอร์รีเสิร์ช (Cancer Research) เมื่อปี 2004 ซึ่งเผยว่า ความเชื่อเรื่องกระดูกอ่อนของฉลามช่วยบำบัดรักษามะเร็งนั้นขัดขวางประสิทธิภาพในการบำบัดรักษามะเร็งของผู้ป่วย อีกทั้งความต้องการกระดูกอ่อนของฉลามยังเติมเชื้อให้การล่าฉลามขยายวงกว้างด้วย โดยหนึ่งใน 6 สปีชีส์ของฉลามและกระเบน ถูกระบุโดยสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ว่าอยู่ในสถานะถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุของเนื้อร้ายในฉลามขาว หรือฉลามครีบด่าง แต่จากรายงานการพบมะเร็งในสัตว์ทะเล โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น พบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างคงที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่ามลพิษทางอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมของมนุษย์นั้นอาจกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ และวาฬเบลูกาก็ได้รับการบันทึกมีการเจ็บป่วยจากมะเร็งด้วยเช่นกัน และรายงานจะระบุด้วยว่า ในพื้นที่ใกล้โรงงานหลอมอะลูมิเนียมนั้นมะเร็งเป็นตัวการคร่าชีวิตวาฬเป็นอันดับ 2
ภาพ a และ b เผยเนื้อร้ายที่ปากฉลามขาว และภาพ c และ d เผยเนื้อร้ายที่หัวฉลามครีบด่าง (ไลฟ์ไซน์/Andrew Fox /Sam Cahir)






กำลังโหลดความคิดเห็น