นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์เนื้อเยื่อ “ปลาพญานาค” ที่เกยตื้นชายหาดแคลิฟอร์เนียในเวลาใกล้ๆ กันถึง 2 ตัว พบตัวหนึ่งมีพยาธิเต็มท้องคาดเกิดจากการกินสัตว์น้ำที่มีตัวพยาธิเหล่านั้น และอีกตัวมีไข่อยู่ในท้อง แต่ยังไม่พบสาเหตุการตายที่แท้จริง เบื้องต้นสันนิษฐานว่ากระแสน้ำพัดแรงจนปลาน้ำลึกไม่อาจหนีรอดได้
เมื่อกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ปลาออร์ฟิช (Oarfish) หรือบางคนเรียกปลาพญานาค บ้างก็เรียกปลาแผ่นดินไหวเกยตื้นชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 2 ตัว ซึ่งไลฟ์ไซน์ระบุว่า นักปรสิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา (University of California, Santa Barbara) สหรัฐฯ ไม่พลาดโอกาสศึกษาปลาทะเลน้ำลึกที่หาได้ยาก และนำชิ้นเนื้อเล็กๆ ของปลาออร์ฟิชที่เกยตื้นบนเกาะคาตาไลนามาวิเคราะห์ ผลคือพวกเขาพบว่าปลาตัวยาว 5.5 เมตรนั้นเต็มไปด้วยปรสิต
อาร์มันด์ กูริส (Armand Kuris) ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา กล่าวว่า พวกเขาพบว่าปลาออร์ฟิชติดเชื้อปรสิตอย่างรุนแรง จากชิ้นเนื้อเพียงชิ้นเล็กๆ พวกเขาก็พบตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้นยาวถึง 15 เซ็นติเมตร และยังพบปรสิตอื่นๆ ในอาหารที่ปลาออร์ฟิชกินด้วย ส่วนลำไล้ของปลาพบปากตะขอของพยาธิหัวเป็นหนาม (spiny-headed worm) ตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นปรสิตที่เปลี่ยนเจ้าบ้าน (ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ) ไปตามวงจรชีวิต
การที่ทีมนักวิทยาศาสตร์พบพยาธิหัวหนามตัวเต็มวัยบ่งชี้ว่า ออร์ฟิชกินเจ้าบ้านเดิมของปรสิต ซึ่งอาจจะเป็นเคอย (krill) หรือสัตว์น้ำเปลือกแข็งใต้ทะเลลึกชนิดอื่นๆ
ส่วนปลาออร์ฟิชอีกตัวที่เกยตื้นที่ซานดิเอโกและยาว 4 เมตรนั้น ก็ได้รับการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทีมวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปป์ส (Scripps Institution of Oceanography) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก (UC San Diego) สหรัฐฯ พบไข่เป็นแสนๆ ฟองในรังไข่ยาว 1.8 เมตรของปลาออร์ฟิช
ขณะที่สาเหตุการตายของปลาออร์ฟิชทั้งสองตัวยังคงเป็นปริศนา แต่นักวิจัยก็มีข้อสันนิษฐานอยู่บ้าง โดยนักวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยทีมจากศูนย์วิทยาการประมงตะวันตกเฉียงใต้ขององค์การบริหารสมุทรและบรรยากาศสหรัฐ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือโนอา (NOAA) ได้ชันสูตรเนื้อเยื่อของออร์ฟิชที่มีไข่ และพบว่าปลานั้นค่อนข้างสด ซึ่งดูเหมือนจะถูกซัดเกยตื้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่มันจะตาย
รัส เวตเตอร์ (Russ Vetter) นักชีววิทยาจากโนอา สันนิษฐานว่าปลาออร์ฟิชตัวดังกล่าวอาจถูกกระแสน้ำพัดแรงซัดเข้าชายฝั่ง ซึ่งปกติปลาชนิดว่ายน้ำไม่ค่อยเก่งอยู่แล้ว จึงไม่อาจหนีรอดไปได้ โดยคลิปวิดีโอของปลาออร์ฟิชขณะมีชีวิตที่บันทึกได้จากอ่าวเม็กซิโก เผยให้เห็นว่า ปลาชนิดนี้ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเมื่ออยู่ในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ และใช้ครีบที่คล้ายไม้พายช่วยในการพยุงตัวขณะลอยตัวเป็นแนวดิ่งอยู่ในน้ำ
สำหรับปราออร์ฟิชนั้นอาศัยอยู่ในน้ำลึกประมาณ 915 เมตร สามารถโตได้ถึง 9 เมตร และจัดเป็นปลามีกระดูกที่ยาวที่สุด ไม่นับฉลามและปลากระเบน ซึ่งการศึกษาตัวอย่างชิ้นเนื้อที่เก็บรักษาไว้ต่อไปจะช่วยนักวิทยาศาสตร์ไขความลับของปลาชนิดนี้ได้มากขึ้น โดยเวตเตอร์กล่าวว่า การวิเคราะห์ไขมันและโปรตีนของปลาชนิดนี้ จะบอกถึงอาหารที่ปลาชนิดนี้กินได้ และลำดับในห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งการวิเคราะห์ดีเอ็นเอก็จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินได้ว่าปลาออร์ฟิชมีวิวัฒนาการมาอย่างไร และสัมพันธ์กับปลาสปีชีส์อื่นอย่างไร
อ่านเพิ่มเติม
สัปดาห์เดียวเจอ "ปลาพญานาค" เกยตื้นถึง 2 ตัว