ไม่ใช่เรื่องโกหก...“กิ้งก่าพินอคคิโอ” ที่นึกว่าสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน กลับมาให้เห็นอีกครั้งหลังทีมวิจัยตามหาเป็นเวลาถึง 3 ปี โดยพบในป่าเมฆอันบริสุทธิ์ในเอกวาดอร์
อเลฮันโดร อาร์เทียกา (Alejandro Arteaga) ผู้ร่วมก่อตั้งทรอปิคัลเฮร์ปิง (Tropical Herping) บริษัทด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กล่าวว่าหลังจากใช้เวลาค้นหาสัตว์เลื้อยคลานที่มีจมูกยาวเป็นเวลาถึง 3 ปี ทีมช่างภาพและนักวิจัยก็ได้พบกิ้งก่าพินอคคิโอ (Pinocchio anole) ในป่าเมฆ (cloud forest) อันบริสุทธิ์และยังคงความเป็นธรรมชาติ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเอกวาดอร์
ทั้งนี้ ไลฟ์ไซน์รายงานว่าทรอปิคัลเฮร์ปิงได้นำการค้นหาสัตว์เลื้อยคลานที่ตั้งชื่อตามหุ่นไม้จมูกยาวขี้โกหก ซึ่งอาร์เทียกากล่าวว่า กิ้งก่าดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1953 แต่ระหว่างปีทศวรรษ 1960 ถึงปี 2005 ก็ไม่มีใครเห็นกิ้งก่านี้อีกเลย จนกระทั่งนักปักษีวิทยาเห็นกิ้งก่าชนิดนี้วิ่งตัดถนนในพื้นที่ห่างไกลเดียวกันนี้ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเอกวาดอร์ และการค้นพบกิ้งก่าพินอคคิโอครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่นักวิทยาศาสตร์ได้พบต่อจากปี 2005
อาร์เทียร์กาให้ข้อมูลแก่อาวเออร์อะเมซิงพลาเนตในเครือไลฟ์ไซน์ว่า โดยปกตินักวิทยาศาสตร์จะค้นหากิ้งก่าในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัตว์ส่วนใหญ่นอนหลับ และกิ้งก่าเปลี่ยนเป็นสีซีดและไม่ค่อยวิ่งหนีเตลิด โดยหนึ่งในทีมสำรวจได้พบกิ้งก่าพินอคคิโอตัวผู้กำลังปีนกิ่งไม้เหนือลำธารเมื่อเดือน ม.ค. และเก็บกิ้งก่านั้นไว้ทั้งคืน ก่อนจะบันทึกภาพไว้ตอนเช้าในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ แล้วปล่อยไป ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นเรื่องระทึกมากที่ค้นพบกิ้งก่าประหลาดนี้
เหตุผลทีอาร์เทียกาและคณะตามหากิ้งก่าดังกล่าว ก็เพราะกิ้งก่าพินอคคิโอเป็นกิ้งก่าชนิดสุดท้ายในการทำหนังสือ “The Amphibians and Reptiles of Mindo” ที่เกี่ยวกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานของเมืองมินโด (Mindo) ทางตอนเหนือของเมืองหลวงเอกวาดอร์ที่ใช้เวลาขับรถไปถึง 2 ชั่วโมง
จากข้อมูลของสหพันธ์สากลเพื่อารอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ไลฟ์ไซน์ระบุว่า กิ้งก่าพินอคคิโอหรือ อาโนลิส โพรบอสซิส (Anolis proboscis) นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งพบเพียง 4 แหล่ง โดยพื้นที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ผืนเดียวที่ขนาบไปตามถนน และมีถิ่นอาศัยที่กินพื้นน้อยที่สุดในบรรดากิ้งก่าอื่นๆ ในโลก
ส่วนที่ยื่นออกมาคล้ายจมูกของกิ้งก่านั้นไม่มีประโยชน์ใดเป็นพิเศษ แต่เหมือนมีไว้เพื่อการเลือกคู่ โดยคล้ายจะบ่งบอกว่า ตัวผู้ตัวนั้นมียีนที่ดี ซึ่งกิ้งก่าตัวเมียจะไม่มีลักษณะยื่นยาวคล้ายจมูกนี้ ค้ลายกับขนสีสดใสของนกยูงตัวผู้ที่มีไว้ดึงดูดนกยุงตัวเมีย โดยเป็นการสื่อสารกับเพศตรงข้ามว่า สัตว์นั้นมีร่างกายที่แข็งแรงและจะให้ลูกให้หลานที่มีคุณภาพสูง