เรื่องราคายางเป็นปัญหาที่ผู้บริหารต้องแก้ไข แต่เรื่อง “น้ำยางเหม็น” ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวนักเคมีจากรั้วจามจุรีได้ขจัดกลิ่นกวนใจในยางพารา ด้วยการเติมน้ำหอมบรรจุแคปซูลจิ๋วทำให้น้ำยางหอมฟุ้ง และประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย
รศ.ดร.ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าได้รับโจทย์จากโครงการวิจัยแห่งชาติ “ยางพารา” ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงาน (สกว.) ให้แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของยางพารา
"พอดีแล็บเรามีประสบการณ์ในการกักเก็บน้ําหอมมาพอสมควร จึงเรียนท่าน ผอ.ฝ่ายยางไปว่า ขอทําให้มีกลิ่นหอมยาวนานกลบกลิ่นไม่หอมได้ไหม และในที่สุดก็กลายมาเป็นงานนี้" รศ.ดร.ศุภศรเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ
ทีมวิจัย รศ.ดร.ศุภกร ใช้เทคโนโลยีการกักเก็บ (encapsulation) กักเก็บน้ำหอมในแคปซูลจิ๋วระดับไมโครเมตรและนาโนเมตร ซึ่งเป็นอนุภาคเล็กๆ ที่เข้ากันได้ดีกับน้ำยาง และเป็นอนุภาคทนความร้อนกับความดันได้ดี
ในการเติมอนุภาคจิ๋วที่กักเก็บน้ำหอมไว้นี้ทีมวิจัยตั้งมาตรฐานไว้ว่า สมบัติต่างๆ ของยางพาราช่น ความยืดหยุ่น ความนุ่ม ความแข็ง จะต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ยางแต่ละประเภท และปัจจุบันทีมวิจัยสามารถพัฒนาให้สามารถเติมอนุภาคกักเก็บน้ำหอมได้มากถึง 15% ของน้ำยาง โดยที่สมบัติต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ แม้ไม่จำเป็นต้องเติมอนุภาคหอมมากขนาดนั้นก็ตาม
อนุภาคหอมที่เติมลงในน้ำยางจะมีกลิ่นหอมนานอย่างต่ำ 8 เดือนตามเกณฑ์ที่ทีมวิจัยตั้งไว้ แต่ยังทำให้หอมนานกว่านั้นได้อีก ซึ่ง รศ.ดร.ศุภศร ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า ได้ทดสอบกระบวนการปล่อยกลิ่นในน้ำยางพาราจากชิ้นงานที่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ใช้กันในอุตสาหกรรม
น้ำยางหอมที่ได้นี้สามารถแปรรูปได้ทั้งผลิตภัณฑ์แบบจุ่มอย่างถุงมือหรือถุงยางอนามัย และผลิตภัณฑ์ตีฟองอย่างยางฟองน้ำ ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ตามจินตนาการ และทีมวิจัยได้ทดลองใช้กับกระบวนการจริงในอุตสาหกรรม และมีผู้ประกอบการสนใจพอสมควร
รศ.ดร.ศุภศรยังได้นำเสนอผลงานวิจัยน้ำยางหอมจากเทคโนโลยีกักเก็บนี้ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือน ส.ค.56 โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมบอกถึงการประยุกต์ใช้น้ำยางหอมว่า การแปรรูปเป็นถุงยางอนามัยเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ