มอบรางวัล "นักวิทย์ดีเด่น' 56" แก่ 2 นักวิจัยจาก มข.ผู้ศึกษาในเชงลึกว่าโรคพยาธิใบไม้ตับนำไปสู่มะเร็งท่อน้ำดี และเป็นโรคที่คร่าชีวิตชาวอีสานเป็นอันดับ 1 จนนำไปสู่การป้องกันและรักษาอย่างตรงเป้าและมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทยศาสตร์ มข. คว้ารางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2556” จากมูลนิธิฯ
"ศ.ดร.โสพิศ และ รศ.ดร.บรรจบ ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการทำงานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับที่นำไปสู่มะเร็งท่อน้ำดี โรคที่คร่าชีวิตชาวอีสานเป็นอันดับหนึ่ง และนำไปสู่การป้องกันรักษาอย่างตรงเป้าและมีประสิทธิภาพ" ศ.ดร.อมเรศกล่าว
สำหรับ ศ.ดร.โสพิศ นั้นวิจัยพบยีนที่สัมพันธ์กับการก่อมะเร็งท่อน้ำดีจากการแพร่ระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับ แลนำไปสู่การรักษาแนวใหม่แบบมุ่งเป้า ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การแก้ปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศแล้ว ผู้วิจัยยังเห็นว่า ปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาระดับอาเซียนที่ไทยควรจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา
ทั้งนี้ พบว่าโรคพยาธิใบไม้ตับแพร่ระบาดไปทั่วอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ ซึ่งในประเทศดังกล่าวยังไม่มี “พยาธิแพทย์” ที่จะตรวจวินิจฉัยระยะโรคและการพยากรณ์โรคเพื่อเป็นแนวทางในการรักษา จึงทำให้แต่ละปีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการตายสูง
ส่วร รศ.ดร.บรรจบ ทำวิจัยเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ โดยได้ค้นพบกลไกทาง "อิมมูโนพยาธิวิทยา" ที่ทำให้เกิดการอักเสบรอบท่อน้ำดีที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมจัดตั้ง “ละว้าโมเดล” โครงการต้นแบบเพื่อควบคุมและป้องกันพยาธิใบไม้ตับแบบบูรณาการในพื้นที่ระบาด เพื่อศึกษาหาแนวทางในการควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยวิถีนิเวศสุขภาพ โดยทำการศึกษาเชื่อมโยงแบบครบวงจรทั้งวงจรพยาธิ พาหะ ระบบนิเวศ และ คน แบบชุมชนมีส่วนร่วม
พร้อมกันนี้มูลนิธิฯ ได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2556 ได้แก่ 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ดร.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงกมล เบ้าวัน ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิทยา เงินแท้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 4. ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น