xs
xsm
sm
md
lg

WWF ชี้เขื่อนอาจเป็นสัญญาณการตายของปลาบึกในแม่น้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการปล่อบปลาบึกลงแม่น้ำโขงที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2555 (ภาพข่าวภูมิภาค)
WWF – การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างอาจกลายเป็นภัยคุกคามเลวร้ายครั้งใหม่ต่อการอยู่รอด ของปลาบึกในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่ตัวใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดในโลก นี่คือรายงานผลการศึกษาฉบับใหม่ของ WWF

การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงสถานภาพใหม่ของสัตว์สายพันธุ์ที่หาได้ยากนี้ ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจำนวน การกระจายตัว ภัยคุกคามและมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้มันสูญหายไป แม้ยังไม่ทราบถึงจำนวนประชากรที่ชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าอาจมีปลาบึกในแม่น้ำโขงตัวเต็มวัยเหลืออยู่เพียง 200-300 ตัว

ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า เขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของประเทศลาวนั้นเป็นปราการที่ไม่สามารถฝ่าได้ สำหรับการอพยพของปลาบึก โดยธรรมชาติปลาบึกสามารถเติบโตจนมีลำตัวยาวได้ถึง 3 เมตร และหนักได้ถึง 300 กิโลกัรม และอาจเสี่ยงที่จะทำให้พวกมันสูญพันธุ์

“ปลาที่มีขนาดเท่าปลาบึกแม่น้ำโขง จะไม่สามารถว่ายน้ำข้ามกำแพงขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน เพื่อไปยังพื้นที่วางไข่บริเวณต้นน้ำได้” ดร.เซ็บ โฮแกน ผู้เขียนรายงานและรองศาสตราจารย์ด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยเนวาดา กล่าว

“ปลาแม่น้ำยักษ์นี้ ต้องการผืนน้ำกว้างขวางและไม่ถูกปิดกั้นเส้นทางอพยพ และต้องการน้ำที่มีคุณภาพจำเพาะเจาะจง รวมทั้งสภาพการไหล เพื่อขับเคลื่อนวงจรชีวิตของการวางไข่ หาอาหาร และผสมพันธุ์

จำนวนของปลาบึกในแม่น้ำโขงนั้น ลดลงอย่างมากอยู่แล้วเนื่องจากการประมงที่มากเกินไป การทำลายสถานที่อาศัย และการสร้างเขื่อนตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงในแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง มีการสร้างเขื่อนปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาบึก และตัดขาดแม่น้ำมูลออกจากแม่น้ำโขงในระยะทางที่เหลืออยู่ รายงานยังอ้างด้วยว่า เขื่อนไซยะบุรีที่เป็นประเด็นถกเถียงนี้จะขัดขวางหรือกระทั่งปิดกั้นการวางไข่ และเพิ่มอัตราการตาย หากปลาว่ายผ่านไปยังกังหันของเขื่อน

“มีความเป็นไปได้ว่า ปลาบึกแม่น้ำโขงใช้ผืนน้ำที่เป็นที่ตั้งของเขื่อนไซยะบุรีเป็นเส้นทางอพยพ โดยเป็นไปได้ว่าปลาตัวเต็มวัยจะ อพยพผ่านพื้นที่นี้ จากเขตอนุบาลปลาบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง ไปยังจุดวางไข่ทางต้นน้ำ” ดร.โฮแกน กล่าวเสริม “และยังมีความ เป็นไปได้ว่าปลาบึกอาจวางไข่ในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเขื่อนในตอนนี้”

รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและน้ำ ตกลงร่วมกันในการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในปี 2554 ว่า จะเลื่อนการตัดสินใจในการ สร้างเขื่อนออกไป เพื่อรอผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ข้อตกลงนี้กลับถูกเพิกเฉยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมื่อลาวตัดสินใจเดินหน้าการก่อสร้าง

เสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการไซยะบุรี มูลค่ากว่าแสนล้านบาทที่เพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับช่องว่างร้ายแรง ในข้อมูลด้านต่างๆ ที่ไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนได้ โดยเฉพาะความกังวลเรื่องการประมง และการไหล ของตะกอนแม่น้ำ

บริษัท Pöyry ของฟินแลนด์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษารัฐบาลลาวในการสร้างเขื่อน โต้แย้งว่าสามารถสร้าง “บันไดปลาโจน” เพื่อให้ปลา สามารถว่ายผ่านกังหันเขื่อน และว่ายน้ำขึ้นลงตามลำน้ำได้ แต่ข้อกล่าวอ้างนี้ ไม่เคยประสบความสำเร็จในการใช้งานมาก่อน

“คุณไม่สามารถคาดหวังให้บันไดปลาโจนทำงานได้ถ้าหากไม่มีความเข้าใจปลาที่เป็นสายพันธุ์เป้าหมาย ความสามารถในการว่ายน้ำของปลา และกระแสน้ำที่จะเป็นตัวดึงดูดปลาให้ว่ายผ่านช่องทางนี้” ดร.เอริค บารัน ศูนย์ปลาโลก กล่าว “ดังนั้นจึงต้อง ทำการวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าปลาจะสามารถอพยพได้จริง”

ครั้งหนึ่งปลาบึกเคยอาศัยอยู่ทั่วแม่น้ำโขง และเป็นไปได้ว่าพวกมันเคยอยู่ไกลถึงพม่าและทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และมีประชากรปลาอยู่มากมายจนกระทั่งช่วงปี 2443 นับตั้งแต่นั้นมาปลาบึกก็ลดจำนวนลง กระทั่งตอนนี้พบปลาบึกได้เพียงแถบ แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในประเทศกัมพูชา ลาว และไทย

ปริมาณของการจับปลายังเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงการลดจำนวนลงของปลาสายพันธุ์นี้ เนื่องจากตัวเลขที่จับได้ ลดลงจากหลายพันตัวในช่วงประมาณปี 2423 เหลือไม่กี่สิบตัวในปีช่วงปี 2533 และปัจจุบันก็จับได้เพียงไม่กี่ตัว แม้จะมีกฏหมายบังคับ ใช้เรื่องการจับปลาบึกในแม่น้ำโขงทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา โดยทั้งไทยและกัมพูชาต่างห้ามจับปลาบึก แต่ว่ายังมีการลักลอบจับปลาสายพันธุ์นี้ รวมทั้งยังมีปลาบึกมาติดกับดักที่วางไว้เพื่อจับปลาพันธุ์อื่นโดยบังเอิญด้วย

“ควรมีการสังเกตการจับปลาเพื่อให้แน่ใจว่าปลาบึกจะไม่ตกเป็นเป้าลักลอบจับปลาโดยชาวประมง” ดร.โฮแกน กล่าว “นอกจากนี้ยังควรสังเกตการจับปลาบึกได้โดยบังเอิญด้วย เนื่องจากมันเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดเพียงแหล่งเดียว ที่จะทำให้ทราบถึงการกระจายตัวของปลา รูปแบบการใช้ชีวิตที่่ผ่านมา และความมากน้อยของปลายักษ์ในแม่น้ำพันธุ์นี้”

การศึกษายังชี้ให้เห็นถึงมาตรการหลักเพื่อป้องกันการสาบสูญของปลาแม่น้ำยักษ์ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องเส้นทางอพยพของปลา และแหล่งดำรงชีวิตที่สำคัญ จนถึงการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น แผนบริหารจัดการตลอดลำน้ำ เนื่องจากปลาสายพันธุ์นี้อยู่ในแม่น้ำสากล และการดำเนินวงจรชีวิตของมัน ยังต้องว่ายน้ำผ่านหลายประเทศ

“ปลาบึกในแม่น้ำโขงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวทางนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง เพราะปลาพันธุ์นี้ยังเปราะบางต่อแรงกดดันด้านการประมง และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมของแม่น้ำ สถานภาพของมันเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำทั้งสาย และการฟื้นจำนวนประชากรปลาบึกก็นับเป็นส่วนสำคัญสำหรับการบริหารจัดการแม่น้ำโขงอย่าง ยั่งยืน”​ ดร. ลี่เฟง ลี ผู้อำนวยการโครงการ Global Freshwater ของ WWF กล่าว

“เราสามารถอนุรักษ์ปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ แต่ประเทศแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่างทุกประเทศจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในระดับหนึ่งและยังรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศจนถึงผู้บริจาค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีพันธสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้น”







กำลังโหลดความคิดเห็น