สสวท.- ในวันที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนๆ แบบนี้ ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกต้องรับศึกหนักที่ไม่ต่างกัน ทั้งหิมะถล่ม ฝนตกหนัก และน้ำท่วม ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก และนี่คือบทพิสูจน์ว่าสภาพบรรยากาศของโลกทุกวันนี้ตกอยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเข้าใจธรรมชาติ เรียนรู้เกี่ยวกับบรรยากาศและปรับตัวเพื่อสู้กับภาวะเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยสาขาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ จึงจัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศช่วงชั้นที่ 4” เพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ทั้งในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จนสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหนึ่งในหลักสูตรของการอบรมครั้งนี้ คือ หลักสูตร “บรรยากาศ”
ดร.สงกรานต์ อักษร รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมอุตุนิยมวิทยา และวิทยากรผู้ให้การอบรม กล่าวว่า การเผยแพร่ความรู้เรื่องบรรยากาศในระดับต่างๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในระดับนักเรียน ซึ่งอยู่ในวัยที่สามารถรับรู้ นำไปคิดพัฒนาต่อยอดหรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
การจัดอบรมในครั้งนี้ ครูจะได้ทราบถึงลักษณะสำคัญของการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทราบวิธีการสังเกต เฝ้าระวัง พร้อมทั้งเตรียมการป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นจากพายุและมรสุมต่างๆ และใช้ประโยชน์จากลักษณะอากาศของฤดูกาล ทั้งการเพาะปลูก ทิศทางในการก่อสร้างบ้านเรือน และลักษณะบ้านเรือนที่เราจะก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ จาก สสวท.อีกด้วย หวังว่าครูที่เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับนำไปประยุกต์ใช้หรือนำไปเผยแพร่สู่นักเรียนต่อไปได้
ตามหาพายุและมรสุม...บนแผนที่โลก
กิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง “การเกิดพายุและมรสุม” เป็นกิจกรรมที่ให้ครูได้ใช้ความรู้เดิมอภิปรายร่วมกัน เพื่อค้นหาประเภทของพายุและมรสุมที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและบริเวณต่างๆ รอบโลก โดยให้วาดภาพระบุบริเวณการเกิดพายุและมรสุมบนแผนที่โลก นอกจากนี้ยังมีชุดข้อมูลการเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทยในรอบ 60 ปี ให้ครูวิเคราะห์ และอภิปรายแนวโน้มการเกิดและการเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อนตามช่วงเวลาต่างๆ กันในรอบปี รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ
เรียนรู้....ดูการเกิดเมฆ
อีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง “เมฆและการเกิดเมฆ” เป็นกิจกรรมที่ให้ครูได้ทดลองด้วยตนเอง แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภาชนะที่มีอุณหภูมิและความกดอากาศที่แตกต่างกัน เพื่ออธิบายเกี่ยวกับกระบวนการเกิดเมฆและปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดเมฆ
“กิจกรรมการทดลองที่นำมานี้ บางอย่างเป็นกิจกรรมที่เราได้พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ซึ่งครูอาจจะยังไม่เคยทดลองทำมาก่อน ดังนั้นเราจึงเน้นให้ใช้อุปกรณ์ง่ายๆ เช่น แก้วน้ำ น้ำร้อน น้ำเย็น ควันธูป กระจกนาฬิกา น้ำแข็ง ขวดน้ำพลาสติก เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำให้เห็นการเกิดเมฆเทียบเคียงกับของจริงได้” ดร.นันทวัน นันทวนิช นักวิชาการ สสวท.กล่าว
ครูหทัยชนก ง๊ะสมน จากโรงเรียนสตูลวิทยา จ.สตูล บอกว่า รู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่ได้มาร่วมอบรมในครั้งนี้ โดยองค์ความรู้ที่ได้รับเป็นการช่วยเติมเต็มตัวเราให้รอบรู้มากขึ้น มีความรู้ในเชิงลึกมากขึ้น และมองภาพในมุมกว้างมากขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะนำไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนต่อไป
ครูโสภาพร ทะโพนชัย จากโรงเรียนเชียงคาน จ.เลย บอกว่า การอบรมในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มพูนเนื้อหาที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน และอธิบายสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะศัพท์เฉพาะที่เรายังไม่ค่อยเข้าใจให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ส่วนกิจกรรมนั้นดีมากๆ เพราะสามารถนำอุปกรณ์ในท้องถิ่นมาใช้สร้างสื่อการสอนได้ อีกทั้งยังทำให้เด็กได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสื่อต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ครูสมพร ตันอรุณ จากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย กรุงเทพฯ บอกว่า จากการที่เป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์มาก่อน จึงทำให้ไม่ค่อยรู้เรื่องบรรยากาศมากนัก แต่เมื่อเข้าอบรมในครั้งนี้ ทำให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญมีข้อมูลการค้นคว้าเพิ่มเติมในการต่อยอดความรู้หลังจากที่อบรมเสร็จสิ้นแล้ว สำหรับกิจกรรมมีความน่าสนใจ สามารถชักชวนให้เด็กสนใจที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น
แม้เราไม่อาจหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของลมฟ้าอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถเตรียมตัวให้อยู่ได้ภายใต้สถานการณ์ ด้วยการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในหลากมิติและหลายแง่มุม มีความรู้ความเข้าใจในทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ท้ายที่สุดเราก็จะมีขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น