xs
xsm
sm
md
lg

“ปรับตัวรับโลกร้อน” ยุทธศาสตร์สำคัญวิจัยภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ภาพประกอบจากรอยเตอร์)
แฟชั่นหิ้วถุงผ้าถูกกาลเวลาซัดหายไปจากความสนใจนานแล้ว แต่ “โลกร้อน” ยังคงอยู่ และสิ่งที่เราเผชิญคือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ การสร้างความตระหนักให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหานี้และปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนหลายพื้นที่ยังไม่เข้าใจถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และยังไม่พร้อมในการรับมือ การวิจัยการจัดการองค์ความรู้และสร้างความตระหนักที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นจำเป็น และเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในร่างยุทธศาสตร์การวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2556-2559 ซึ่งอยู่ระหว่างการระดมความคิดก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

“ในบางพื้นที่ประชาชนไม่เข้าใจว่าพื้นที่เคยปลูกได้ ทำไมตอนนี้กลับปลูกไม่ขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราจึงต้องเร่งสร้างความตระหนักและความเข้าใจตรงนี้ ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง จากพื้นที่ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ พวกเขาได้ช่วยกันหาวิธีรักษาผืนดินตัวเองไว้ มีการปลูกไผ่รวมกับป่าชายเลนเพื่อกักตะกอนยึดพื้นที่ไว้” ดร.มณทิพย์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ยกตัวอย่าง

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าวตั้งแต่ 22 ม.ค.2551 ซึ่งผลจากการดำเนินงานโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ราชบัณฑิตยสภาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และโครงการ ADAPT Asia-Pacific ภายใต้การสนับสนุนโดยองคืการความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้ยุทธศาสตร์ออกมาทั้งหมด 9 ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์การวิจัยดังกล่าวครอบคลุมการสร้างแบบจำลองและการประเมินการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภูมิอากาศและสภาะแวดล้อมในประเทศไทย การวิจัยด้านเกษตรและอาหารเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การวิจัยพลวัตรและความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ การประเมินผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรน้ำและทางเลือกในการปรับปรุงระบบการจัดการน้ำ การวิจัยด้านสุขภาพ การศึกษาผลกระทบตอ่การพัฒนาเมือง การวิจัยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การวิจัยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการวิจัยเพื่อจัดการองค์ความรู้และสร้างความตระหนักที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เหตุผลที่ต้องจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แจงว่าเนื่องจากไทยได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ตั้งแต่ปี 2537 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งงานวิจัยเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ด้าน ดร.มณทิพย์ เสริมว่า ที่ผ่านมามีการให้ทุนวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว โดยหน่วยงานบริหารทุนวิจัยต่างๆ แต่ยังเป็นการกระจาย ต่างคนต่างทำ งานวิจัยยังเป็นแท่งๆ ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงกัน ซึ่งการจัดทำยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้งานไม่ซ้ำซ้อนและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งฐานข้อมูลยังไม่เป็นระบบ ยังมีเรื่องเร่งด่วนในการจัดการฐานข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำ สภาพอากาศ เพื่อให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงได้ง่าย

สำหรับความพร้อมในการทำวิจัยนั้น ดร.มณทิพย์ กล่าวว่า นักวิจัยไทยมีความพร้อมมาก ขาดเพียงการสนับสนุนด้านทุนวิจัย พร้อมยกตัวอย่างถึงการทำวิจัยแบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อทำนายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับท้องถิ่นของไทยเองว่ามีความจำเป็น เนื่องจากแบบจำลองที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นแบบจำลองในภาพกว้างระดับโลก จึงจำเป็นต้องสร้างแบบจำลองจำเพาะสำหรับประเทศไทย

นอกจากนี้แม้ไทยไม่ได้เป็นประเทศในภาคผนวกที่ 1 (annex 1) ของ UNFCCC แต่ ดร.มณฑิพย์ อธิบายว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราจำเป็นต้องวิจัยและป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการทำยุทธศาสตร์วิจัยครั้งนี้ใช้หลักการเดียวกับการป้องกันและแก้ปัญหาของ UNFCCC ซึ่งเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนั้น เป็นผลมาจากภาวะเรือนกระจกที่เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศ  






กำลังโหลดความคิดเห็น