xs
xsm
sm
md
lg

จริงเหรอ? ออรัลเซ็กซ์ทำ “ไมเคิล ดักลาส” เป็นมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไมเคิล ดักลาส
คนเด่นคนดังอีกคนอย่าง “ไมเคิล ดักลาส” กลายเป็นข่าวครึกโครมเกี่ยวกับมะเร็ง ทั้งนี้พบว่าเขามีทุกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เขาเป็นมะเร็ง ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่อย่างหนัก และล่าสุดเขาระบุว่าได้รับเชื้อ “เอชพีวี” ซึ่งเป็นไวรัสในคนที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูก จากการทำออรัลเซ็กซ์ และเป็นสาเหตุให้เขาป่วย แต่ก็มีข้อถกเถียงจากการเปิดเผยดังกล่าว

โดยทั่วไปปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในหัวและลำคอ มักเกิดจากการดื่มสุราและสูบบุหรี่จัดๆ แต่ไลฟ์ไซน์ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบว่าโรคมะเร็งในหัวและคอนั้นอาจมีสาเหตุจากการได้รับเชื้อเอชพีวี (HPV) หรือฮิวแมนพาพิลโลมาไวรัส (human papillomavirus) ที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านออรัลเซ็กซ์ ซึ่งเรียกมะเร็งประเภทนี้ว่า มะเร็งลำคอเอชพีวีโพสซิทีฟ (HPV-positive throat cancer)

เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำคอ เนื่องจากเชื้อเอชพีวีหรือไม่ แพทย์จะหาสัญญาณทางพันธุกรรมของเนื้องอก และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่มีเนื้อร้ายแบบเอชพีวีเนกาทีฟ (HPV-negative tumors) กับผู้ป่วยที่มีเนื้อร้ายแบบเอชพีวีโพสซิทีฟ (HPV-positive tumors) พบว่าผู้ป่วยที่มีเนื้อร้ายแบบโพสซิทีฟจะตอบสนองต่อการรักษาและรอดชีวิตได้มากกว่า โดยเป็นผลจากการศึกษาระดับคลินิก

แม้ว่า 70% ของผู้ป่วยมะเร็งลำคอในสหรัฐฯ จะมีเชื้อเอชพีวีเป็นปัจจัยหลักในการก่อโรค แต่ยังมีปัจจัยในเรื่องการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอที่เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการพัฒนาสู่การเป็นมะเร็งด้วย อ้างจากข้อมูลของสถาบันมะเร้งแห่งชาติสหรัฐฯ (National Cancer Institute) เหตุผลที่เป็นไปได้คือ หลังได้รับเชื้อเอชพีวีแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะมีการพัฒนาไปสู่การเป็นมะเร็งได้มากขึ้น

“เราไม่เข้าใจว่าปัจจัยเสี่ยงพื้นฐานเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร แต่เรารู้ว่ามะเร็งมักเกิดจากเชื้อดังกล่าวหรือปัจจัยก่อโรคอื่นๆ” จิปเซียมเบอร์ ดีซัวซา (Gypsyamber D'Souza) นักวิจัยเชื้อเอชพีวีจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ให้ความเห็น  

นักวิจัยระบุว่าอัตราผู้ป่วยมะเร็งลำคอแบบเอชพีวีโพสซิทีฟนั้นเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยจากปัจจัยอื่นกลับลดลง และจากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารเจอร์นัลออฟคลินิคัลออนโคโลจี (Journal of Clinical Oncology) เมื่อปี 2011 ชี้ว่า ภายในปี 2020 เชื้อเอชพีวีจะเป็นสาเหตุของมะเร็งลำคอมากกว่ามะเร็งปากมดลูกในสหรัฐฯ  

ส่วนการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงวารสารคลินิคัลแคนเซอร์รีเสิร์จ (Clinical Cancer Research) เมื่อปี 2010 สรุปว่า การสูบบุหรี่ร่วมกับการได้รับเชื้อเอชพีวีนั้น ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำคอมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้งหลังได้รับการรักษาแล้ว เมื่อเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่เคยสูบบุหรี่ และยังมีการศึกษาอื่นที่นักวิจัยได้สำรวจว่าการติดเชื้อเอชพีวีร่วมกับการสูบบุหรี่นั้นทำให้เกิดมะเร็งช่องปากสูงขึ้นหรือไม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นการยากที่จะบอกว่า ไมเคิล ดักลาส ซึ่งพบว่าเป็นมะเร็งลำคอแบบเอชพีวีโพสซิทีฟนั้นได้รับปัจจัยเสริมจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มหนักจนนำไปสู่โรคมะเร็งหรือไม่
 
ตอนนี้ประมาณกันว่ามีประชาชนในสหรัฐฯ ราว 20 ล้านคนที่ติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งในคนส่วนใหญ่ระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดเชื้อไวรัสออกไป และยังพบว่าในกรณีที่มีการติดเชื้อเอชพีวีที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็ไม่ปรากฏอาการของโรคใดๆ และเชื้อจะหายไปภายใน 1-2 ปีโดยที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่การติดเชื้อเอชพีวีที่มีความเสี่ยงสูงแบบเรื้อรังก็นำไปสู่ความผิดปกติของเซลล์ หรือพยาธิสภาพที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้

เชื้อเอชพีวีนั้นเป็นกลุ่มไวรัสที่มีมากกว่า 150 ชนิด ซึ่งสามารถติดต่อทางเพศได้ บางชนิดก็เป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงต่ำที่ก่อให้เกิดหูดตามผิวหนัง แต่มีเอชพีประมาณ 10 กว่าชนิดเป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่ถึงยังไม่มีวิธีที่แน่ชัดในการป้องกันมะเร็งลำคอที่มีสาเหตุจากเอชพีวี แต่เด็กหญิงและชายในสหรัฐฯ ก็ได้รับคำแนะนำให้รับวัคชซีนป้องกันเชื้อดังกล่าว
 
“วัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีนั้นป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ และเราก็หวังว่ามันจะป้องกันมะเร็งในช่องปากที่มีสาเหตุจากเชื้อเอชพีวีได้” ดีซัวซาให้ความเห็น 
เชื้อไวรัสเอชพีวี






กำลังโหลดความคิดเห็น