xs
xsm
sm
md
lg

พบบางส่วนของ “ทวีปโบราณ” ใต้มหาสมุทรอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแผ่นทวีปโรดิเนียในอดีต (สีมืด) ขณะกำลังแยกจากกัน โดยเผยให้เห็นส่วนที่แยกไปเป็นทวีปต่างๆ ในปัจจุบันด้วยแถบสีสว่าง (บีบีซีนิวส์)
นักวิจัยพบร่องรอยบางส่วนของแผ่นดินทวีปโบราณที่น่าจะมีอยู่บนโลกระหว่าง 2 พันล้านปีก่อนถึง 85 ล้านปีก่อน อยู่ใต้มหาสมุทรอินเดียในปัจจุบัน

นักวิทยาศาสตร์เรียกแถบทวีปดังกล่าวว่า “มอรีเชีย” (Mauritia) ซึ่งแตกหักและถูกเซาะอยู่ใต้คลื่นตั้งที่ทวีปปัจจุบันเริ่มตั้งตัวใหม่ การค้นพบครั้งนี้บีบีซีนิวส์รายงานว่าเป็นการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience)

เมื่อประมาณ 750 ล้านปีก่อน แผ่นดินใหญ่บนโลกได้รวมกันกลายเป็นทวีปเดียวที่เรียกว่า “โรดิเนีย” (Rodinia) ซึ่งครั้งหนึ่งอินเดียเคยอยู่ติดมาดากัสการ์ แต่ตอนนี้แผ่นดินทั้งสองถูกมหาสมุทรแยกออกจากกันหลายพันกิโลเมตร

ล่าสุดนักวิจัยเชื่อว่าพวกเขาได้พบร่องรอยของแผ่นทวีปบางๆ ที่เรียกว่า “จุลทวีป” (microcontinent) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแทรกระหว่างทั้งสองแผ่นดิน

ข้อสรุปดังกล่าวบีบีซีนิวส์ระบุว่า ทีมวิจัยได้จากการศึกษาเม็ดทรายจากชายหาดของสาธารณรัฐมอริเชียส (Mauritius) แม้ว่าจะหาอายุเม็ดทรายได้ว่าเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อประมาณ 9 ล้านปีก่อน แต่ทีมวิจัยก็พบแร่ธาตุที่มีอายุเก่าแก่กว่านั้นมาก

ศ.ทรอนด์ ทอร์สวิก (Prof. Trond Torsvik) จากมหาวิทยาลัยออสโล (University of Oslo) นอร์เวย์ กล่าวว่า พวกเขาพบแร่เซอร์คอน (zircons) ที่สกัดได้จากทรายชายหาด ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ปกติจะพบในเปลือกทวีป จึงเป็นข้อสรุปว่าแร่ธาตุเหล่านั้นค่อนข้างมีอายุเก่าแก่มาก

อายุของเซอร์คอนตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่ามีอายุระหว่าง 1,970-600 ล้านปีก่อน และทีมวิจัยก็สรุปว่า แร่ธาตุเหล่านั้นเป็นเศษที่เหลือของแผ่นดินโบราณ ซึ่งถูกดึงขึ้นสู่พื้นผิวของเกาะระหว่างการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่ง ศ.ทอร์สวิกเชื่อว่าเศษของมอริเชียนั้นจะพบได้อีกใต้มอริเชียสลงไป 10 กิโลเมตร และภายใต้มหาสมุทรอินเดียด้วย

ทั้งนี้ น่าจะเป็นเวลาหลายล้านปีนับจากมหายุคพรีแคมเบรียน (Precambrian Era) ที่แผ่นดินปราศจากสิ่งมีชีวิต จนมาถึงสมัยที่มีไดโนเสาร์ครองโลก แต่เมื่อประมาณ 85 ล้านปีก่อน เมื่ออินเดียเริ่มแยกจากมาดากัสการ์มายังตำแหน่งในปัจจุบัน จุลทวีปก็ได้แตกออกและหายไปใต้ระลอกคลื่น แต่ส่วนเล็กๆ น่าจะยังคงอยู่

ศ.ทอร์สวิกอธิบายว่า ในขณะนี้ประเทศเซเชลส์ (Seychelles) ในปัจจุบันเป็นเพียงแผ่นแกรนิตหรือเปลือกทวีป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของใจกลางมหาสมุทรอินเดีย แต่เมื่อนานมาแล้วแผ่นดินประเทศนี้อยู่ทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นแผ่นดินขนาดใหญ่มาก และก็มีเศษแตกหักของทวีปเหล่านี้ที่กระจายอยู่ทั่วมหาสมุทร

“ยังต้องมีงานวิจัยเพื่อศึกษาแผ่นดินที่หายไปอย่างเต็มรูปแบบ โดยทีมวิจัยยังต้องการข้อมูลการสั่นสะเทือน ซึ่งจะใช้สร้างภาพโครงสร้างแผ่นทวีปได้ อันจะเป็นการประเมินว่าข้อพิสูจน์เป็นจริงหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นก็ขุดดินลงไปให้ลึก แต่นั่นหมายถึงการใช้เงินมหาศาล” ศ.ทอร์สวิกกล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น