xs
xsm
sm
md
lg

หลายงานวิจัยชี้ “ฮอร์โมนออกซิโตซิน” อาจช่วยให้รักยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิทยาศาสตร์ทราบมาระยะหนึ่งแล้วว่า “ออกซิโตซิน” มีบทบาทสำคัญทำให้สัตว์จำพวกหนูครองคู่ผัวเดียวเมียเดียว และเป็นฮอร์โมนที่ทำให้มนุษย์เรามีความเชื่อใจกัน ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าฮอร์โมนตัวเดียวกันนี้อาจเป็นตัวกำหนดว่าสัมพันธภาพอันโรแมนติกนั้นก่อตัวและคงอยู่ได้อย่างไร

ไซแอนทิฟิกอเมริกัน (Scientific American) ระบุว่า มีงานวิจัยใหม่ๆ จำนวนหนึ่งที่เผยให้เห็นว่าฮอร์โมนออกซิโตซินนี้ช่วยให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ เป็นกำลังใจให้กันและเปิดใจด้วยความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตคู่ และการค้นพบเหล่านี้ได้จุดประกายให้นักวิจัยบางคนสนใจศึกษาต่อว่า จะนำออกซิโตซินไปใช้บำบัดชีวิตคู่ได้หรือไม่

งานวิจัยแรกที่บ่งชี้ว่าออกซิโตซินเป็น “กาวใจ” โดยธรรมชาติคืองานของทีมวิจัยที่วัดระดับฮอร์โมนดังกล่าวในกลุ่มคู่รัก โดย ศ.รูธ เฟล์ดแมน (Ruth Feldman) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบาร์-อิลาน (Bar-Ilan University) ในอิสราเอล ได้ใช้เวลาอยู่หลายปีเพื่อศึกษาบทบาทของออกซิโตซินในความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก และล่าสุดเธอเพิ่งตัดสินใจหันมาศึกษาบทบาทในความสัมพันธ์สวาท โดยเปรียบเทียบระดับฮอร์โมนตัวนี้ในคู่รักข้าวใหม่ปลามันกับกลุ่มคนโสด

ศ.เฟล์ดแมน พบว่าระดับฮอร์โมนออกซิโตซินเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงที่ทั้งคู่ตกหลุมรัก โดยคู่รักมีระดับฮอร์โมนตัวนี้สูงกว่าที่พบในหญิงตั้งครรภ์ปกติถึง 2 เท่า ซึ่งเธอและคณะวิจัยได้ตีพิมพ์ผลการค้นพบครั้งนี้ลงในวารสารวิชาการไซโคนิวโรนโดครโนโลจี (Psychoneuroendocrinology)

นอกจากนี้ยังพบว่าออกซิโตซินนั้นมีความสัมพันธ์กับความยืนยาวของชีวิตคู่ โดยคู่รักที่มีระดับฮอร์โมนชนิดนี้สูงสุดยังคงครองรักด้วยกันต่อไปอีก 6 เดือน (หลังเริ่มศึกษา) และทั้งคู่ยังปรับตัวเข้าหากันมากกว่าคู่ที่มีระดับออกซิโตซินต่ำ โดยคู่มีระดับฮอร์โมนสูงจะฟังกันและกัน หัวเราะร่วมกัน และสัมผัสกันบ่อยกว่าคู่ที่มีระดับฮอร์โมนต่ำ แต่ยังไม่แน่ชัดว่า ฮอร์โมนนี้ช่วยให้รักยืนยาวออกไป หรือเป็นเพราะคู่รักที่ล้มเหลวนั้นไม่สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบฮอร์โมนออกซิโตซินได้

หนึ่งหนทางที่จะตอบคำถามดังกล่าวคือการเสริมฮอร์โมนออกซิโตซิน แทนที่จะวัดระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติอย่างเดียว โดย บีเต ดิทเซน (Beate Ditzen) นักวิจัยและนักแก้ปัญหาชีวิตคู่จากมหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich) สวิตเซอร์แลนด์ ได้ทดลองฉีดสเปรย์ที่มีส่วนผสของฮอร์โมนออกซิโตซินใส่จมูกของคู่ทดสอบ โดยฉีดที่จมูกเพื่อให้แน่ใจว่าฮอร์โมนจะไปถึงสมอง

จากนั้นเธอก็คุยกับแต่ละคนถึงปัญหาในชีวิตคู่ที่นำไปสู่ความขัดแย้ง หรือบางครั้งถึงขั้นลงไม้ลงมือ ตัวอย่างเช่น ถามว่าใครทำงานบ้านหรือพวกเขาใช้เวลาว่างร่วมกันอย่างไรบ้าง เป็นต้น และเธอสังเกตว่า คู่ที่ได้รับฮอร์โมนสื่อสารกันอย่างไรระหว่างถกเถียงกัน เปรียบเทียบกับอาการของคู่รักที่ไม่ได้รับฮอร์โมน

แรกทีเดียวนั้นดิทเซนพบว่าคู่ที่ได้รับฮอร์โมนออกซิโตซินมีการสื่อสารกันที่ดีขึ้น และมีระดับคอร์ติซอล (cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียดต่ำลง แต่ในการศึกษาล่าสุดเธอและคณะได้วัดรัดับฮอร์โมนซาลิวารีอัลฟาอะไมเลส (salivary alpha-amylase) หรือเอสเอเอ (sAA) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สัมพันธ์กับความเครียด ซึ่งหญิงและชายนั้นตอบสนองต่างกัน โดยหญิงที่ได้รับโอไซโทซินนั้นจะแสดงระดับเอสเอเอต่ำลง ขณะที่ผู้ชายกลับเพิ่มขึ้น และมีอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งการตอบโต้โดยสัญชาตญาณผู้ชายเหล่านั้นจะสื่อสารได้ดีกว่าระหว่างความขัดแย้ง ยิ้มมากขึ้น มองตากันมากขึ้น และเผยความรู้สึกมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ

งานวิจัยเผยว่า ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะติดสินใจหย่าระหว่างความขัดแย้งกับคู่รัก ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวในการสื่อสารและความขุ่นเคืองในความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ดิทเซนเชื่อว่าอารมณ์เร้าที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากผู้ชายได้รับออกซิโตซินในการทดลองของเธอนั้น อาจเป็นผลให้คู่รักมีความผูกพันและสื่อสารกันมากขึ้น และแม้ว่างานวิจัยใหม่จะเป็นหลักฐานชี้ว่าโอไซโทซินนั้นมีอิทธิพลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก แต่เธอเตือนว่าผลการทดลองนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าออกซิโตซินนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของคู่รักโดยตรง

อีกงานวิจัยหนึ่งศึกษาลงไปถึงระดับยีน งานวิจัยของ ฮาสเซ วาลุม (Hasse Walum) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคาโรลินสกี (Karolinska Institute) ในสตอกโฮล์ม สวีเดน และเป็นงานวิจัยแรกที่ประเมินว่า คนที่มีความแปรปรวนในตัวยีนตัวรับฮอร์โมนออกซิโตซินนั้นจะมีช่วงเวลาลำบากในการรักษาความสัมพันธ์มากกว่าคนที่ไม่มีความแปรปรวนของยีนตัวรับ

วาลุมและคณะได้ถือโอกาสศึกษายีนของคู่แฝดและผู้เข้าร่วมทดลองอีกหลายพันคน โดยศึกษาข้อมูลยีนและการตอบคำถามเกี่ยวกับความหวานชื่นที่พวกเขามีต่อคู่รัก ซึ่งทีมวิจัยพบว่าผู้หญิงที่มีความแปรปรวนในยีนจะไม่ใกล้ชิดกับคู่รักเท่ากับผู้หญิงที่ไม่มีความแปรปรวนของยีน โดยหญิงที่มีความแปรปรวนของยีนนั้นจะจูบคู่รักน้อยกว่าและไม่ปรารถนาความใกล้ชิดทางกายบ่อยเท่าหญิงที่ไม่มียีนเหล่านั้น และมักจะพบว่ามีวิกฤตชีวิตคู่ด้วย แต่นักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ความแปรปรวนนี้ส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนออกซิโตซินอย่างไร โดยอาจทำให้จำนวนตัวรับออกซิโตซินในสมองต่ำลง ซึ่งคนที่มีตัวรับต่ำกว่าปกติจะไวต่อฮอร์โมนน้อยกว่าด้วย

หมายเหตุ
ขออภัยในความผิดพลาดของการถอดชื่อฮอร์โมนเป็นภาษาไทย ทีมงานได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว







กำลังโหลดความคิดเห็น