xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินสร้างเมฆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานศิลปะในซีรีย์“Nimbus” ของศิลปินชาวดัชต์ ชื่อ Berndnaut Smilde ซึ่งเสกเมฆก้อนละมุมมาไว้ใจกลางห้องจัดแสดงศิลปะได้อย่างน่ามหัศจรรย์
ใครก็ตามที่มักต้้งคำถามว่า ทำไมวิศวกรคอมพิวเตอร์ถึงต้องเรียนชีววิทยา? ทำไมนักชีววิทยาถึงต้องเรียนเขียนโปรแกรม? แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ทำไมต้องถูกบังคับให้เรียนศิลปาศาสตร์เป็นวิชาเลือก? คุณลองถามตัวเองดูสิว่าแล้วจำเป็นไหมที่ศิลปินและจิตรกรต้องเรียนแค่ศิลปะ?

สัปดาห์ก่อนมีคนแชร์ภาพจากบล็อกวิทยาศาสตร์ชื่อดังในสังคมออนไลน์กันอย่างครึกครื้น นายปรี๊ดเองก็สะดุดตากับภาพเมฆก้อนงามลอยเด่นอยู่กลางห้องโล่ง เป็นศิลปะการจัดวางที่สร้างจุดเด่นด้วยเมฆอันบางเบา แต่หนักแน่นด้วยความคิดที่แยบยลของการรวมเทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้สื่อสารงานศิลปะให้มีความน่าสนใจอย่างมหัศจรรย์

งานที่นายปรี๊ดพูดถึงเป็นงานศิลปะในซีรีย์ “Nimbus” ของศิลปินชาวดัตช์ ชื่อ Berndnaut Smilde ที่ทำงานในรูปแบบศิลปะแบบจัดวางร่วมสมัย จนได้รับเชิญให้ไป “สร้างเมฆ” ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและหอศิลป์ทั่วยุโรป และอเมริกามาตั้งแต่ปลายปี 2555 ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก เพราะการแสดงงานของ Smilde ดำเนินการในลักษณะศิลปะเชิงประจักษ์ (Interactive Art) โดยผู้ชมจะได้มีส่วนร่วมและเห็นวิธีการสร้างเมฆทุกชั้นตอน ตั้งแต่การยืนรอคอยในห้องจัดแสดงโล่งๆ ไร้ภาพเขียนและปติกรรมใดๆ จนกระทั่งศิลปินเข้ามาเสกเมฆก้อนใหญ่ให้ลอยวนเวียนเปลี่ยนรูปร่างอยู่กลางห้อง เมื่อเสริมบรรยากาศแห่งการเสพศิลปะด้วยการจัดแสงให้เกิดจังหวะสวยงาม จึงยากที่จะปฏิเสธว่า เป็นห้วงเวลาที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมอย่างไม่รู้ลืม

Smilde ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC News ถึงแรงบันดาลใจว่า เค้าอยากทำงานศิลปะสักอย่างหนึ่งในห้องโล่งๆ ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสาธิตวิธีการทำเมฆอย่างง่ายๆ โดยไม่ปิดบัง เริ่มต้นด้วยการจัดการกับลำแสงจากสปอร์ตไลท์ หรือแสงธรรมชาติที่สาดส่องเข้ามาทางหน้าต่าง เพื่อทำให้เกิดจังหวะของแสงที่ส่องลงบนมวลเมฆอย่างนุ่มละมุน จากนั้นก็เป็นการบังคับลมและอุณหภูมิจากเครื่องปรับอากาศและพัดลมให้เกิดความเย็นเหมาะสม และมีแรงลมที่หมุนเวียนไปรอบห้องเพื่อบังคับเมฆให้ลอยอยู่กลางห้องหรือตำแหน่งที่ต้องการ ต่อไปก็ใช้น้ำเปล่าพ่นเป็นละอองตรงตำแหน่งที่ต้องการให้เกิดเมฆซึ่งละอองน้ำนี้จะทำให้เมฆถูกกักอยู่กับความชื้น และลอยอยู่เหนือพื้นตามลักษณะที่ศิลปินต้องการ

จากนั้นในขั้นสุดท้ายจึงปล่อย “ควัน” จากเครื่องทำควันที่ใช้ทั่วไปตามเวทีการแสดงคอนเสิร์ต ไม่กี่นาทีเมฆก้อนงามก็ถูกเสกให้ลอยอยู่กลางห้องจัดแสดง ท่ามกลางสายตาของผู้ชมที่แสดงความตื่นเต้นประทับใจกับภาพตรงหน้า เหมือนสายตาของเด็กน้อยที่นั่งมองมวลเมฆเปลี่ยนรูปร่างเป็นม้า เป็นต้นไม้ ไปตามแรงลม แต่ในห้องจัดแสดงมีเพียงศิลปินที่คอยพ่นละอองน้ำไปตามที่ต่างๆ และคอยควบคุมแรงลม อุณหภูมิ และแสงให้ผู้ชมได้ชื่นชมกับก้อนเมฆกลางหอศิลป์ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่จับเอาเทคนิคทางวิทยาศาสตร์มารวมกับศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

เมื่อเทียบภาพมหัศจรรย์ที่เห็นกับเทคนิคที่ศิลปินทำหลายคนคงเริ่มคิดในใจว่า “ฉันก็ทำได้” แต่ทำไมเราถึงไม่เคมีใครคิดใครทำมาก่อน? เพราะเจ้าเครื่องพ่นควันก็ราคาแค่หลักพัน โดยมีหลักการง่ายๆ จากการปั๊มสารละลายกลีเซอรีนหรือกลีเซอรอลขึ้นมาทำให้เกิดการระเหยผ่านแผ่นอะลูมิเนียมที่ถูกทำให้ร้อน และมีขอลวดทองแดงเป็นตัวปรับอุณหภูมิก่อนถูกพ่นออกมา ส่วนน้ำยาสำเร็จทำควันรูปก็หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพงและค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็มีสูตรลับตามแต่ละบริษัทจะผลิตขึ้นมาเพื่อให้กับเครื่องสร้างควันของตนเอง แต่หากใครสนใจจะสร้างควันเองก็สามารถหาสูตร D.I.Y.ได้จากอินเทอร์เน็ต โดยใช้สารตั้งต้นง่ายๆ ภายในบ้าน แต่นายปรี๊ดขออุบไว้ เพราะหากเด็กๆ มาอ่านเจออาจนำไปทดลองสร้างเมฆโดยปราศจากผู้ใหญ่ดูแล จนเมฆน้อยอาจกลายเป็นระเบิดควันได้ ความตั้งใจดีก็กลายเป็นร้ายโดยไม่ตั้งใจ

หลายคนอาจมองว่า การที่วิทย์พบศิลป์ “มันก็เป็นเพียงดีไซน์” ศิลปะทำให้วิทยาศาสตร์ดูอ่อนโยนน่าสนใจ หรือวิทยาศาสตร์ทำให้ศิลปะดูมีอะไรน่าค้นหา...

แต่สิ่งที่นายปรี๊ดอยากสะกิดชวนท่านทั้งหลายคิด คือ “วิธีคิด” ไม่ใช่เพียงการที่ศิลปินนำเครื่องพ่นควันมาทำอะไร? แต่ สิ่งที่น่าคิดกว่าคือ เค้าคิดได้อย่างไร? และผ่านกระบวนการทดลองอย่างไรให้ได้ผลงานที่ต้องการได้? นายปรี๊ด เชื่อว่า ศิลปินต้องผ่านการทดลองมาหลายครั้งก่อนที่จะพบว่าสิ่งที่ตนเองต้องการทำได้อย่างไร ด้วยวิธีการใดและสิ่งแวดล้อมแบบไหนจะดีที่สุด และต้องละเอียดละออกับการควบคุมปัจจัยต่างๆ ให้ได้ตามที่ต้องการ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และแรงลมที่พอเหมาะจะอุ้มเมฆไว้กลางที่โล่ง
นิทรรศการศิลปะชื่อ Infinity Mirror Room ของ Yayoi Kusama ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่น ที่ใช้เทคนิคภาพสะท้อนจากกระจกซึ่งทำให้ผู้ชมมีส่วมร่วมในการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในห้องที่เต็มไปด้วย “จุดแสง” โดย Kusama เองมีอาการทางประสาททำให้เห็นภาพเป็นจุด แต่เธอนำความไม่สมบูรณ์มาเปลี่ยนเป็นงานศิลปะจนโด่งดังระดับโลก จนเปรียบเสมือน “Prof. John Nash แห่งโลกศิลปะ”
กระบวนการคิดแบบนี้เด็กๆ ทุกคนถูกคาดหวังตามหลักสูตรให้สามารถทำได้ เพื่อวันข้างหน้าจะได้ใช้ “กระบวนคิดทางวิทยาศาสตร์” แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งคำถามหรือทิศทางที่จะพยายามแก้ไข ทดลองหรือหาข้อมูล สรุปผลและนำไปใช้ในการแก้ปัญหา นายปรี๊ดเชื่อว่าทุกคนท่องจำได้จนขึ้นใจ แต่มั่นใจว่าทำไม่ได้ทุกคนแบบฟันธงขาดพรึ่บๆ แม้กระทั่งคนที่กำลังเรียนหรือจบสายวิทยาศาสตร์มาก็ตาม เพราะเท่าที่พบเห็นด้วยตาเนื้อของตนเองมีนักศึกษาและคนทำงานหลายคนยังคงไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาแก้ไขแม้แต่เรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีปัญหาจึงรอคนมาแก้ไข หรือกลายเป็นพวกบ้าน้ำลาย บ้าความรู้จนเข้าข่ายข้อมูลท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด

ในทางตรงข้ามนายปรี๊ดกลับมองเห็น “ศิลปิน” หลายคนที่ถูกฝึกให้มีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จนประสบผลสำเร็จ แม้แต่มหาวิทยาลัยชื่อดังทางศิปละของบ้านเรา ก็เริ่มสอนวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์สำหรับนักประติมากรรมและจิตรกรรมแล้วเช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ น้องสาวของนายปรี๊ดเองที่แรกเริ่มเธอไม่เข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนให้นักศิลปะอย่างเธอ “ตั้งโจทย์ ทดลอง และสรุปผล” เพราะเธอเชื่อมาตลอดว่า งานศิลปะน่าจะเป็นสิ่งที่ทำแล้วต้องสบายใจ บางครั้งไม่ต้องมีเหตุผล บางครั้งอาจจะไม่มีความหมาย แต่ถ้าออกมาสวยและประทับใจคนดูก็น่าจะพอ จนเกิดอาการต่อต้านอาจารย์ตัวเองอยู่พักใหญ่ แต่เมื่อเปิดใจทำตาม เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ โจทย์ที่ทำคืออะไร ต้องการสื่อถึงอะไร เทคนิควิธีการที่ใช้ทำอย่างไรจะได้ผลดีที่สุด เธอเริ่มบันทึกและวางแผนทดลองเทคนิคที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ จนในที่สุดก็เลือกใช้เทคนิคตรงใจที่สุดกับงานศิลปะชิ้นนั้น

สุดท้ายเธอก็ได้เรียนรู้กระบวนการที่ทำให้เธอ “สร้างสรรค์” งานศิลปะด้วยตนเองได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จากการสร้างงานศิลปะที่จำกัดตนเองเพียงการวาดภาพหรืองานประติมากรรม จึงกลายเป็นการสร้างสื่อผสม การจัดวาง video และ performance art ที่หลากหลาย จนในปัจจุบันเป็นหนึ่งในศิลปินหญิงไทย ที่เดินทางไปแสดงงานศิลปะทั่วเอเชียปีละหลายครั้ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เธอสามารถทดลองเทคนิคเพื่อสื่อสารความคิดของตัวเองได้อย่างไม่จำกัด

เช่นเดียวกับเพื่อนของเธออีกหลายคนที่มี “เทคนิคทางศิลปะ” เป็น “นวัตกรรมของตนเอง” เช่น เทคนิคการทำลายลงรักปิดทองที่มีเลื่อมลายสะท้อนออกมาคล้ายปีกแมลงทับ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผ่านการทดลองและสรุปผลเพื่อพัฒนางานศิลปะไทยดั้งเดิมให้ก้าวสู่ศิลปะรูปแบบใหม่ที่มีอัตลักษณ์ ซึ่งว่าไปแล้วกระบวนการนี้ล้วนแต่ปรากฏในศิลปินมีชื่อมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เช่น ดาร์วินชีนักปราญช์ที่มีความสามารถไปทุกด้านทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปวิทยาการ หรือแม้กระทั่งศิลปินไทยๆ อย่าง “ท่านขรัวอินโข่ง” ผู้ปรากฏฝีมือบนผนังวัดอารามหลวงชั้นเอกของไทย ก็มีชื่อเสียงจากฝีมือที่อ่อนช้อยและสูตรสีที่คิดค้นผสมขึ้นเองจนมีความสวยงาม แปลกตา และติดทนกว่าช่างเขียนใหญ่ท่านอื่น ซึ่งแน่นอนว่าต้องผ่านการทดลอง เล่นแร่แปรธาตุมาหลายชั้นกว่าจะมีนวัตกรรมทางศิลปะเป็นของตนเองได้

เรื่องที่ยกมาวันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของคนสร้างศิลป์ที่มีกระบวนการทำงานบนฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์เพราะในโลกแบบวิทย์ๆ ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั้งไทยและเทศอีกหลายท่าน ที่มีงานอดิเรกเป็นการวาดภาพ ประติมากรรม หรือแม้แต่การเล่นมายากล แม้แต่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลหลานท่านก็ให้ความสนใจกับงานศิลปะ การพัฒนาสังคม และการศึกษา เพราะเชื่อว่าลำพังวิทยาศาสตร์และเทคโดนโลยีอาจขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าไม่ได้ หากคนเราขาดการพัฒนาความคิด จิตใจ และสุนทรียภาพที่ดีต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

โลกของความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงในกรอบเล็กๆ ตามหลืบเร้นหรือกะลาที่เราจะเลือกซุกตัวอยู่เท่านั้น หากแต่ศาสตร์และกระบวนการคิดทั้งปวงล้วนแต่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก การกำหนดมุมคิดและวิธีการพัฒนางานของตนเองแต่เพียงกรอบอันคับแคบแบบข้าไม่สนใคร คงทำให้ “วิทยาการ” และ “นวัตกรรม” ซึ่งหมุนโลกให้เจริญต่อไปข้างหน้าเดินต่อไปไม่ได้แน่นอน






เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น