xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาลิงชิมป์หาต้นตอพฤติกรรม “แชร์แบบแฟร์ๆ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแบ่งปันมีความสำคัญต่อสังคมของชิมแปนซี  (บีบีซีนิวส์)
นักวิจัยศึกษาลิงชิมแปนซีหาต้นตอพฤติกรรม “แบ่งปันแบบแฟร์ๆ” ดัดแปลง “เกมยื่นคำขาด” ทางเศรษฐศาสตร์ ให้ลิงเลือกจะแบ่งอาหารให้เพื่อนเท่าๆ กัน หรือเลือกให้ตัวเองได้มากกว่า พบชิมป์มีแนวโน้มแบ่งอาหารอย่างยุติธรรมมากกว่า บ่งชี้ว่า พฤติกรรมแบ่งปันเช่นนี้มีสายวิวัฒนาการมายาวนานกว่าที่คิด

บีบีซีนิวส์ อ้างรายงานวิจัยที่พิมพ์ลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ส (Proceedings of the National Academy of Sciences) ซึ่งนักวิจัยได้ดัดแปลง “เกมยื่นคำขาด” ( ultimatum game) ในทางเศรษฐศาสตร์มาทดสอบกับลิงชิมแปนซี 3 คู่ เพื่อดูว่าระหว่างลิงสองตัวนั้นจะเลือกแบ่งกล้วยที่ถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ให้กันอย่างไร โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความยุติธรรมโดยสัญชาตญาณนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเช่นเดียวกับคน

ดาร์บี พรอคเตอร์ (Darby Proctor) หัวหน้าทีมวิจัยจากศูนย์ศึกษาไพรเมทเยิร์กส์สหรัฐฯ (Yerkes National Primate Research Center) มหาวิทยาลัยอีมอรี (Emory University) สหรัฐฯ อธิบายว่าทำไมเธอและคณะ จึงเลือกเกมยื่นคำขาดซึ่งเดิมใช้ในการสาธิตแนวโน้มการแบ่งปันของคนมาทดสอบกับชิมแปนซี

รูปแบบเดิมของเกมดังกล่าวจะให้เงินแก่ผู้ทดสอบคนแรกจำนวนหนึ่งแล้วให้เขาเสนอแบ่งเงินแก่ผู้ทดสอบอีกคน หากผู้ทดสอบยอมรับข้อเสนอ ทั้งคู่ก็จะได้เงินตามจำนวนที่ตกลง แต่หากอีกฝ่ายไม่ยอมรับข้อเสนอ ผู้ทดสอบทั้งคู่ก็จะไม่ได้อะไรเลย ซึ่งเป็นเกมที่ตั้งอยู่ระหว่างความยุติธรรมกับความลังเลใจทางเศรษฐศาสตร์ หากผู้ทดสอบคนแรกเห็นแก่ตัว เสนอเงินไม่เท่ากันอีกฝ่ายก็อาจปฏิเสธได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ในสังคมมนุษย์
ลิงชิมป์ตัวแรกจะเลือกเหรียญกอนส่งต่อให้ลิงอีกตัวเป็นการยื่นยข้อเสนอ (บีบีซีนิวส์/ศูนย์วิจัยไพรเมทสหรัฐ)
ดร.พรอคเตอร์ และคณะ ฝึกลิงชิมป์ให้เล่นเกมลักษณะเดียวกันนี้ โดยใช้เหรียญ 2 สีแทนรางวัลที่จะได้รับ เหรียญสีขาวหมายถึงลิงตัวแรกเลือกแบ่งกล้วยในปริมาณเท่าๆ กัน ส่วนสีน้ำเงินหมายถึงลิงตัวแรกเลือกกล้วยในปริมาณมากกว่า หากลิงอีกตัวยอมรับการเลือกเหรียญดังกล่าว ทั้งคู่ก็จะได้รับกล้วยตามปริมาณนั้น ผลจากการทดสอบชิมแปนซีทั้ง 3 คู่ มีแนวโน้มที่จะยื่นข้อเสนออย่างยุติธรรมและแบ่งปันอาหารอย่างเท่าเทียม

อีกการทดลองพวกเขาได้ใช้การทดสอบแบบเดียวกันกับเด็กอายุระหว่าง 2-7 ขวบ จำนวน 20 คน พวกเขาพบว่าทั้งเด็กและลิงชิมป์มีแนวโน้มทำเหมือนคนทั่วไป คือ เลือกที่จะแบ่งผลตอบแทนเท่าๆ กัน ซึ่ง ดร.พรอคเตอร์ อธิบายพวกเขาพยายามทำความเข้าใจถึงเส้นทางวิวัฒนาการว่าเหตุใดคนเราจึงแบ่งปันกัน

“ทั้งคนและชิมแปนซีนี่นั้นเป็นกลุ่มประสานงานกันคณะใหญ่ ทั้งรวมตัวกันเพื่อล่าเหยื่อ แบ่งปันอาหารและดูแลลูกหลานของกันและกัน ดังนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นในวิวัฒนาการเพื่อการประสานการทำงาน ในมุมของฉันนั้นสำนึกในความยุติธรมของมนุษย์นั้นมีอยู่ในสัตว์ไพรเมทมานานแสนนานก่อนที่มนุษย์และลิงจะเริ่มแยกสายวิวัฒนาการเสียอีก” ดร.พรอคเตอร์ ให้ความเห็น

ด้าน ดร.ซูซาน สคูลท์ซ (Dr.Susanne Schultz) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) อังกฤษ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้น่าสนใจและแสดงให้เห็นว่าชิมแปนซีก็ตระหนักที่ยื่นข้อเสนออย่างยุติธรรม แต่ก็ได้ให้ข้อแนะนำว่าน่าจะเปลี่ยนรูปแบบการทดลองที่จะดึงการแสดงออกถึงความยุติธรรมของลิงชิมป์ได้ดีกว่า โดยใช้อย่างอื่นเป็นของรางวัลแทนของกิน

นอกจากนี้ นักวิจัยจากแมนเชสเตอร์ยังให้ความเห็นอีกว่า ยังไม่ชัดเจนนักว่าลิงชิมป์เข้าใจรูปแบบของเกมอย่างแจ่มแจ้ง และยังเป็นทดลองในลิงเพียง 6 ตัว ซึ่งยังต้องการหลักฐานมากกว่านี้เพื่อจะแสดงให้เห็นชัดๆ ว่า ชิมแปนซีมีแนวโน้มที่นะแสดงออกอย่างยุติธรรมโดยธรรมชาติ







กำลังโหลดความคิดเห็น