ปัญหาทางการเกษตรอย่างมะเขือเทศเหี่ยวเร็วหลังเก็บเกี่ยว เรามีทางแก้จากการทดลองของน้องๆ นักเรียนโรงเรียนจอมทองในเชียงใหม่ ที่นำมาประยุกต์ใช้ในครัวเรือนได้ไม่ยาก
จากปัญหามะเขือเทศเหี่ยวเร็วและเก็บรักษาได้เพียง 4 วัน หลังเก็บเกี่ยว นายภาณุพงศ์ ปัญญาเหล็ก ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนจอมทอง จ.เชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คนคือ นายพงศธร ต๋าคำดี และนายศุภวิชญ์ ราชโยธา หาทางแก้ปัญหา
จากการค้นข้อมูลพบว่าโรงงานต่างๆ มักใช้แวกซ์ หรือพาราฟีนเคลือบผิว พวกเขาจึงคิดที่จะใช้สารจากธรรมชาติมาช่วยเคลือบและยืดอายุมะเขือเทศแทนสารจากปิโตรเคมี และพบข้อมูลว่า “เห็ดลาบ” ซึ่งพบตามโขดหินในที่มีน้ำสะอาดขังในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสารประเภทน้ำตาลชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตพลาสติกใส
ทั้ง 3 คนยังทดลองใช้สารที่คั้นจากเปลือกกล้วยน้ำว้าดิบและใช้น้ำผึ้งมาทดลองเคลือบผิวมะเขือเทศ เพื่อหาว่าวัตถุดิบจากธรรมชาติชนิดใดช่วยยืดอายุการเก็บรักษามะเขือเทศได้ดีกว่ากัน และลองหาสัดส่วนของสารทั้ง 3 ชนิด จนที่สุดพบว่าหากใช้สารที่คั้นจากเห็ดลาบ 3 ส่วนผสมสารที่คั้นจากเลือกกล้วยน้ำว้า 1 ส่วน จะช่วยยืดอายุมะเขือเทศได้ดีที่สุด โดยเก็บมะเขือเทศได้นาน 10 วัน
วิธีทำสารเคลือบผิวมะเขือเทศคือสับเปลือกกล้วยดิบแล้วคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำที่คั้นจากเห็ดลาบ ตามสัดส่วนข้างต้น จากนั้นใช้มเขือเทศจุ่มลงสารผสมทั้งสองแล้วผึ่งให้แห้ง จากนั้นจุ่มอีกครั้ง รวมการจุ่มสารเคลือบทั้งหมด 2 ครั้ง เมื่อมะเขือเทศแห้งจะมีเกล้ดสีขาวเคลือบตามผิว แต่ล้างออกได้
การทดลองดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โครงงาน (เชิง) วิทยาศาตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของครูแกนนำให้ได้รับความรู้วิทยาศาสตร์จนสามารถเป็นพี่เลี้ยงแก่เยาวชนในการทำโครงงานได้