ผู้เชี่ยวชาญปลา ระบุ ปลาประหลาดมีหัวคล้ายงูที่พบในเวียดนามนั้นคล้าย “ปลาตูหนา” แต่คล้ายมีอาการป่วยและค่อนข้างผอม ชี้ เป็นปลาที่พบได้ทั่วไป และยังมีอยู่ทุกลุ่มน้ำไทย ขึ้นไปถึงแม่ฮ่องสอน พฤติกรรมคล้ายแซลมอน เกิดในน้ำจืด โตในน้ำเค็ม และกลับไปขยายพันธุ์ในน้ำจืด
ฮือฮาพอสมควรสำหรับข่าวปลาประหลาดในเวียดนามที่ชาวไร่อ้อยในเขตชนบทของ จ.หว่าบึ่ง (Hoa Binh) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงฮานอย จับได้จากหนองน้ำ โดยมีลักษณะหัวคล้ายหัวงู ลำตัวอ้วนสั้น กลมป้อม และหางคล้ายปลาไหล หนักถึง 4.2 กิโลกรัม (อ่าน - เวียดพบปลาประหลาด .. ปลาหัวงู โดนเขี่ยแยกเขี้ยวขู่ฟ่อเหมือนงู)
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาและผู้ก่อตั้งsiamensis.org เว็บไซต์กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นภาพของปลาประหลาดดังกล่าว และให้ความเห็นว่า น่าจะเป็น “ปลาตูหนา” ซึ่งเป็นปลาที่พบได้ทั่วไป และยังอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลาไหลอุนาหงิที่นำมาทำข้าวหน้าปลาไหล
“อารมณ์คล้ายๆ แซลมอนครับ เกิดในน้ำจืด โตในน้ำเค็ม แล้วอพยพกลับขึ้นมาอาศัย และ ขยายพันธุ์ในน้ำจืดตอนโต มีทุกลุ่มน้ำในไทยขึ้นไปถึง แม่ฮ่องสอน แต่ตัวนี้ดูผอม เหมือนป่วยๆ” ดร.นณณ์อธิบาย ส่วนคำอ้างที่ว่าปลาดังกล่าวส่งเสียงขู่ได้นั้น เขามองว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ชาวเวียดนามคนดังกล่าวพูดเกินจริง แต่เป็นไปได้ว่าปลาดังกล่าวพอจะส่งเสียงได้บ้าง
นอกจากนี้ ยังมีหลายคำสันนิษฐานจากผู้อ่านข่าวดังกล่าวว่า อาจเป็นปลาเห่าช่อน หรือ ปลาปอด ซึ่งเขาได้แจกแจงให้ฟังว่า สำหรับปลาเห่าช่อนนั้นเป็นปลาชนิดหนึ่งในสกุลเดียวกับปลาช่อน แต่ไม่มีพิษตามที่เชื่อกัน โดยเป็นปลาช่อนตัวยาวๆ เมื่อยังเล็กจะมีลายคล้ายดอกจันทน์ที่เกล็ด กระจายพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง (อ่านเพิ่มเติม - Species: Channa aurolineatus)
ส่วนปลาปอดนั้นเป็นปลาที่พบในออสเตรเลีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ แต่ไม่พบในแถบภูมิภาคนี้ มักอาศัยในแหล่งน้ำกึ่งถาวร เมื่อถึงหน้าแล้งจะมุดโคลนลงไปอาศัยอยู่แห้งๆ มีอวัยวะใกล้เคียงคล้ายปอดของสัตว์บกมาก และจัดเป็นปลากลุ่มที่มีการวิวัฒนาการสูงที่สุด ลักษณะครีบเป็นสายๆ ไม่มีกระดูก อยู่ในกลุ่ม Lobefin fish และพบว่ามีการนำเข้ามาเลี้ยงในไทย แต่ไม่เยอะมาก อีกทั้งมีการหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติและถูกจับได้จนกลายเป็นข่าว