xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งตับอ่อนคร่ามนุษย์อวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แซลลี ไรด์ มนุษย์อวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐฯ (รอยเตอร์/นาซา)
“แซลลี ไรด์” ผู้หญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่ได้เดินทางไปในอวกาศและทำการทดลองทางด้านการศึกษาอวกาศในวงโคจร เสียชีวิตลงในวัย 61 ปีหลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งตับอ่อนนาน 17 เดือน

รอยเตอร์รายงานตามการเปิดเผยของ “แซลลี ไรด์ ไซน์” (Sally Ride Science) องค์กรด้านวิทยาศาสตร์ว่า “แซลลี ไรด์” (Sally Ride) มนุษย์อวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ได้เสียชีวิตลงในวัย 61 ปี เมื่อวันที่ 23 ก.ค. หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งตับอ่อนนาน 17 เดือน

ทั้งนี้ ไรด์ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์หญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางสู่อวกาศเมื่อปี 1983 ขณธมีอายุได้ 32 ปี โดยเธอได้เดินทางไปพร้อมกับมนุษย์อวกาศชายอีก 4 คนด้วยกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Challenger)

ไรด์เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2008 เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีการเดินทางสู่อวกาศว่า การเป็นชาวอเมริกันหญิงคนแรกที่เดินทางสู่อวกาศนั้นทำให้เธอต้องแบกรับรับความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ขึ้นไปด้วย แต่ตอนนี้เขาไม่ได้คิดถึงเรื่องความคาดหวังมากนัก แต่รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ดังกล่าว

ด้าน บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวแถลงถึงไรด์ว่าเป็นวีรสตรีของสหรัฐฯ และเป็นต้นแบบที่ทรงอิทธิพล และเธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กผผู้หญิงอีกหลายๆ รุ่นที่จะเอื้อมไปให้ถึงดวงดาว

ส่วน ชารลส์ โบลเดน (Charles Bolden) ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) และเป็นอดีตมนุษย์อวกาศด้วย กล่าวแถลงถึงการจากไปของแซลลี ไรด์ว่า เธอได้ทำลายกำแพงด้วยความอ่อนโยนและเป็นมืออาชีพ และได้เปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์โครงการอวกาศของอเมริกา

อย่างไรก็ดี ไรด์ไม่ใช่ผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นไปในอวกาศ โดยมนุษย์อวกาศหญิงคนแรกของโลกคือ วาเลนตินา เทเรชโกวา (Valentina Tereshkova) ของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเดินทางไปในอวกาศด้วยจรวดวอสตอก 6 (Vostok 6) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.1963

ในปี 1984 ไรด์ได้เดินทางสู่อวกาศอีกเป็นครั้งที่ 2 พร้อมกับมนุษย์อวกาศหญิงคนอื่นๆ คือ จูดิธ เรสนิก (Judith Resnik) และ แคธรีน ซัลลิวัน (Kathryn Sullivan) หลังจากนั้นก็มีผู้หญิงอีกว่า 45 คนจากสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ เดินทางสู่อวกาศ ในจำนวนนั้นมีผู้บังคับการหญิงของกระสวยอวกาศด้วย 2 คน

ไรด์เติบโตในลอสแองเจลลิสและเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ซึ่งเธอได้จบปริญญาตรีทางด้านฟิสิกส์และภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว รวมถึงจบปริญญาโททางด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน จากนั้นเธอได้เข้าร่วมโครงการมนุษย์อวกาศของนาซาในปี 1978

ไรด์ได้รับเลือกให้ปฏิบัติภารกิจในเที่ยวบินที่ 3 แต่การฝึกหัดต้องถูกยกเลิกไปหลังโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์เมื่อปี 1986 ซึ่งคร่าชีวิตชีวิตลูกเรือและครูโรงเรียนมัธยมไป 7 ราย จากนั้นเธอได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่ร่วมสืบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าว และได้เข้าช่วยงานผู้บริหารขององคืการอวกาศเพื่อร่วมวางแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวให้องค์กร

เธอลาออกจากนาซาเมื่อปี 1987 และเข้าทำงานในสถาบันวิจัยด้านความลปอดภัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเมื่อปี 1989 เธอได้เข้าทำงานในภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก (University of California-San Diego) และเป็นผู้อำนวยการของสถาบันอวกาศแคลิฟอร์เนีย (California Space Institute)

ด้วยความสนใจในการขยายโอกาสศึกษาวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนเธอจึงเปิดบริษัทแซลลีไรด์ไซน์ในซานดิเอโก ซึ่งสร้างโปรแกรมวิทยาศาสตร์และสื่อสำหรับนักเรียนและนักการศึกษาในระดับชั้นประถมและมัธยม เธอยังเขียนตำราวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนอีก 5 เล่ม และอีกหลายสิบเล่มให้แก่นาซาและคณะที่ปรึกษาทางด้านอวกาศและเทคโนโลยี รวมถึงคณะกรรมการที่ร่วมสืบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งที่ 2 ที่เกิดแก่กระสวยอวกาศเมื่อปี 2003
แซลลี ไรด์ จากไปด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน (รอยเตอร์/นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น