นักฟิสิกส์ค่อนข้างมั่นใจว่าได้ค้นพบอนุภาคใหม่ที่น่าจะเป็น “ฮิกกส์” ซึ่งค้นหามานาน โดยภายในการประชุมใหญ่ประจำปีของนักฟิสิกส์อนุภาคจากทั่วโลก นักวิจัยประจำเครื่องเร่งอนุภาคยักษ์ “เซิร์น” รายงานว่าพบอนุภาคใหม่ที่มีมวลมากกว่าโปรตอนราวๆ 133 เท่า แต่ยังต้องรอข้อมูลยืนยันและใช้เวลาอีกระยะก่อนตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน
โจ อินแคนเดลา (Joe Incandela) โฆษกประจำสถานีตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส (CMS) ภายในเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (LHC) ของเซิร์น (CERN) กล่าวภายในการประชุมนานาชาติด้านฟิสิกส์พลังงานสูง (International Conference on High Energy Physics) หรือ ICHEP2012 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลียว่า สิ่งที่นักวิจัยได้พบนั้นต้องเป็นอนุภาคใหม่อย่างแน่นอน โดยเป็นอนุภาคประเภทโบซอน (boson) และเป็นอนุภาคโบซอนที่หนักที่สุด และเพราะความสำคัญของการค้นพบอนุภาคนี้ทำให้นักวิจัยจะต้องศึกษาและตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป
ส่วนจดหมายข่าวของเซิร์นระบุคำแถลงของ ฟาบริโอ จิอานอตติ (Fabiola Gianotti) โฆษกประจำสถานีตรวจวัดแอตลาส (ATLAS) ว่า ข้อมูลที่ได้ระบุชัดว่าเป็นสัญญาณของอนุภาคใหม่ โดยมีระดับทางสถิติที่ “5 ซิกมา” (5 sigma) ในช่วงของมวลที่ระดับพลังงาน 126 กิกะอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่าเป็นน้ำหนักที่มากกว่าโปรตอนประมาณ 133 เท่า และผลที่ได้เป็นความพยายามจากหลายส่วน แต่ยังต้องใช้เวลาอีกหน่อยในการเตรียมพร้อมเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษานี้
ทางด้าน เซอร์จิโอ เบอร์โตลุซชี (Sergio Bertolucci) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเซิร์น กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะไม่ตื่นเต้นต่อผลการทดลองนี้ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาทางเซิร์นได้แถลงว่าในปี 2012 นี้เราน่าจะได้ข้อสรุปว่ามีหรือไม่มีอนุภาคที่น่าจะเป็นฮิกกส์ และจากสังเกตการณ์อนุภาคใหม่นี้จะเป็นสิ่งชี้นำเส้นทางในอนาคตข้างหน้า ด้วยความเข้าใจที่มากขึ้นว่าสิ่งที่ได้เห็นในข้อมูลนั้นคืออะไร
สำหรับผลการศึกษาที่ได้นำเสนอภายในการประชุมใหญ่ของนักฟิสิกส์อนุภาคที่ออสเตรเลียนี้เป็นเพียงข้อสรุปจากข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งตั้งอยู่บนฐานข้อมุลที่รวบรวมได้ในปี 2011 ส่วนข้อมูลปี 2012 นี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ โดยผลงานการวิเคราะห์ที่เพิ่งนำเสนอไปนี้คาดว่าจะได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการประมาณปลายเดือน ก.ค. ส่วนภาพการศึกษาที่สมบูรณืยิ่งขึ้นนั้นจะปรากกขึ้นในปลายปีนี้หลังจากได้ผลการทดลองเพิ่มเติมจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี
ขั้นต่อไปของการศึกษาคือการประเมินธรรมชาติที่แน่ชัดของอนุภาคที่เพิ่งค้นพบนี้ และความสำคัญของอนุภาคดังกล่าวต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเอกภพ แต่อย่างไรก็ดี จดหมายข่าวของเซิร์นยังไม่ได้สรุปว่าอนุภาคที่เห็นนั้นคือฮิกกส์โบซอน หรือเป็นอย่างอื่นที่น่าตื่นเต้นกว่า แต่แจงว่าแบบจำลองพื้นฐาน (Standard Model) ได้อธิบายว่าอนุภาคพื้นฐานทั้งที่อยู่ในตัวเราและทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นเป็นตัวตนในเอกภพนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร รวมถึงแรงที่กระทำต่ออนุภาคเหล่านั้น ถึงอย่างนั้นสสารที่เราก็มีไม่เกิน 4% ของทั้งหมดในเอกภพ และอนุภาคฮิกกส์โบซอนในรูปแบบที่แปลกประหลาดกว่านี้จะเป็นสะพานเชื่อมสู่ความเข้าใจในสสารที่เหลืออีก 96%
ทางด้านไลฟ์ไซน์รายงานเพิ่มเติมว่า การค้นพบที่เพิ่งประกาศครั้งนี้นั้นเป็นผลจากการศึกษาของสถานีตรวจวัดซีเอ็มเอสและแอตลาสที่ตั้งประจำ ณ เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี โดยผลสังเกตการชนกันของอนุภาคแต่ละครั้งนั้นเป็นอิสระต่อกันและต่างแยกกันวิเคราะห์ อีกทั้งยังไม่ได้รับอนุภาคให้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อป้องกันอคติในการศึกษาของนักวิจัยแต่ละทีมที่มุ่งหาสิ่งเดียวกันนี้