ถึงเวลาเปลี่ยนแนวคิด “สร้างถนนต้องสูงๆ เข้าไว้” มาเป็นสร้าง “ถนนต่ำๆ” ดีกว่า เพราะยังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในเวลาอันสั้น และยังผันน้ำไปลงแหล่งน้ำที่เหมาะแล้วใช้ประโยชน์ได้อีกต่อ ยกตัวอย่างถนนสายสั้นๆ ใน จ.บุรีรัมย์ แก้ปัญหาน้ำไหลบ่าได้ใน 1 ชั่วโมง ซึ่งเหมาะแก่การประยุกต์ใช้ในพื้นที่น้ำหลาก
ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) หรือ สสนก.ได้เสนอ “ถนนคลอง” หรือ Canal Street เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมระหว่างการเสวนา “ปี 55 น้ำท่วมหรือเอาอยู่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวทีราชดำเนินเสวนา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.55 โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศราและมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ผู้อำนวยการ สสนก.กล่าวว่า ควรจะเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างถนนจากที่ต้องยกระดับให้สูงๆ เปลี่ยนเป็นถนนต่ำๆ มีแนวกั้น เมื่อน้ำหลากมาก็สามารถบังคับทิศทางให้น้ำไหลไปได้เร็วและมีทิศทางไม่เอ่อท่วมบ้านเรือนหรือบังคับให้ไหลยังแหล่งน้ำที่ต้องการเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามต้องการได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างถนนสายสั้นๆ ใน ต.โคกพลวง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ขุดให้ถนนต่ำกว่าระดับบ้านเรือนเป็นระยะทาง 2-3 กิโลเมตร ซึ่งช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เคยประสบได้ และสามารถระบายได้ภายใน 1 ชั่วโมง
“ชาวบ้านเขาทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว คนกรุงเทพฯ ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ พุทธมณฑลสาย 5 ก็น่าทำ วงแหวนรอบนอกก็ทำได้ ซึ่งพื้นที่เหมาะสม คือ พื้นที่ซึ่งมีปัญหาน้ำหลาก อย่างภาคใต้ที่เพิ่งท่วมก็ควรทำ” ดร.รอยลเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และบอกด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2538
สำหรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันนั้นมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปี 2554 ที่ผ่านมาประมาณ 20% แต่ก็มากกว่าค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนของประเทศประมาณ 20% เช่นกัน อย่างไรก็ดี ตัวแทนจากกรมชลประทานระบุว่าได้เตรียมพร้อมในการรับน้ำโดยพร่องน้ำในเขื่อนต่างๆ ไว้รองรับปริมาณน้ำฝน ซึ่งคาดว่าจะรับมือได้หากมีปริมาณน้ำฝนเท่ากับปีที่ผ่านมา