xs
xsm
sm
md
lg

“ปลากัดมหาชัย” อยู่ก่อนไทยมา 3-4 ล้านปี แต่จะไม่เหลือแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลากัดป่ามหาชัย (siamensis.org/ดร.อัครพงษ์ สวัสดิพงษ์)
“ปลากัดมหาชัย” สายพันธุ์เฉพาะที่พบเฉพาะใน 3 สมุทร คือ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และ สมุทรสาคร รวมถึงบางส่วนของกรุงเทพมหานคร กำลังจะหายไปจากสายน้ำ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบข้อมูลทางพันธุกรรมที่บ่งชี้ว่า ปลาชนิดนี้เป็นสปีชีส์ใหม่สำหรับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และไม่ใช่ปลาที่กลายพันธุ์จากการปลากัดสายพันธุ์อื่นสู่แหล่งน้ำ

ด้วยความสนใจส่วนตัวที่เคยเพาะเลี้ยงปลากัดในสมัยยังเด็ก ดร.อัครพงษ์ สวัสดิพงษ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงนำความรู้ทางด้านชีววิทยาเข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจปลากัด โดยรับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อศึกษาชีวิตปลากัด โดยทำควบคู่ไปกับงานวิจัยหลักในเรื่องการศึกษาปูม้าและปลาทู

ทั้งนี้ ปลากัดมีอยู่หลายชนิดและพบได้ตั้งแต่จีนลงไปถึงอินโดนีเซีย แต่ ดร.อัครพงษ์ เลือกศึกษา “ปลากัดป่ามหาชัย” ซึ่งเป็น 1 ในปลากัดป่า 4 ชนิดที่มีการก่อหวอดเพื่อวางไข่ โดยชนิดที่เหลือ คือ ปลากัดป่าภาคกลาง ซึ่งพบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปลากัดป่าภาคอีสาน ซึ่งพบในภาคอีสาน และปลากัดป่าภาคใต้ที่พบในภาคใต้ โดยทั้งหมดมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ แต่ปลากัดป่ามหาชัยน่าห่วงที่สุดเพราะพบในพื้นที่แคบๆ และพบได้น้อย

การศึกษาปลากัดป่ามหาชัยครอบคลุมเรื่องระบบนิเวศ การกระจายตัวของประชากร การขยายพันธุ์ และพันธุกรรม ซึ่งจากการศึกษาลึกลงไปในระดับดีเอ็นเอ ดร.อัครพงษ์ พบว่า ปลากัดป่ามหาชัยเป็นปลากัดที่แยกสายวิวัฒนาการจากปลากัดป่าภาคกลางมา 3-4 ล้านปีแล้ว และอยู่ก่อนคนไทยมาตั้งนาน ไม่ใช่ปลากัดที่กลายพันธุ์จากป่ากัดภาคกลาง หรือหลุดจากการเพาะเลี้ยงสู่แหล่งน้ำอย่างที่เข้าใจ และยังเป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่สำหรับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ออกสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดป่ามหาชัยทั้งในฤดูร้อนและฤดูฝน เพื่อดูระบบนิเวศและตรวจคุณภาพน้ำ ซึ่งบริเวณปลากัดชนิดนี้เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำเค็มเข้ามาปนเล็กน้อย และยังพบว่ามีน้ำจากแหล่งอุตสาหกรรมบางส่วนปนเปื้อนเข้ามาด้วย ส่วนเรื่องอาหารนั้นพบว่าเมื่อมีขนาดเล็กจะกินแมลงเป็นอาหาร เมื่อโตขึ้นจะเริ่มกินแมลงผิวน้ำ และโตขึ้นอีกจะอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งยังเศษซากพืชเข้าไปปนด้วย

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลากัดมหาชัยในตู้เพาะเลี้ยงได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะลำพังแค่นำมาเลี้ยงในตู้และให้กินอาหารด้วยนั้น ดร.อัครพงษ์กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องยากแล้ว แต่ในกรณีนี้ยังพบว่าขยายพันธุ์ในที่เพาะเลี้ยงได้ด้วย อย่างไรก็ดี จำนวนปลากัดที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นมีน้อยมาก นอกจากนี้ แหล่งอาศัยที่เป็นแหล่งน้ำจืดและเป็นรอยต่อป่าชายเลนกำลังโดนรุกรานจากแหล่งอาศัยของมนุษย์

“เรารู้จักปลากัดกันอย่างกว้างขวาง แต่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปลาชนิดนี้น้อย เลือกศึกษาเรื่องนี้เพราะต้องการบอกว่าปลานี้เกิดมาก่อนคนนะ ถ้าคนคิดว่าเป็นปลาชนิดหนึ่งเฉยๆ งานวิจัยนี้ก็ไปต่อไม่ได้ เราอยากเห็นความหลากหลาย เห็นคนที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ตื่นขึ้นมาแล้วเจอสิ่งที่เหมือนกันหมด” ดร.อัครพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ เป็นความเห็นที่สอดคล้องกับสิ่งที่ รศ.นสพ.ดร.วรวิทย์ วัชชวัลคุ จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กล่าวไว้ในการประชุมวิชาการเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อ 22-23 พ.ค.55 ที่ผ่านมา ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นทำให้สัตว์เราปรับตัวได้จากสิ่งแวดล้อมและโรคต่างๆ ได้ แต่หสกสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมก็หมายถึงเพิ่มความเสี่ยงในการสูญพันธุ์

นอกจากนี้ ดร.อัครพงษ์ ยังให้ความเห็นเรื่องแนวทางการอนุรักษ์ปลากัดที่เป็นสัญลักษณ์ของไทยว่า ในมุมของเขานั้นต้องปกป้องไม่ให้สิ่งมีชีวิตนั้นๆ สูญพันธุ์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องนำไปใช้ด้วย อย่างกรณีปลากัดของไทยนี้เมื่อไหร่ที่ต้องการปลากัดพันธุ์ใหม่ ก็ต้องนำต้นพันธุ์จากธรรมชาติไปเพาะพันธุ์ ซึ่งหากเห็นเช่นนี้การอนุรักษณ์ปลากัดในธรรมชาติจะเป็นเรื่องง่าย เมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ภาพปลากัดป่ามหาชัยก่อหวอดในตู้เพาะเลี้ยง (ดร.อัครพงษ์ สวัสดิพงษ์)
ภาพปลากัดป่ามหาชัย (บน) ตัวเมีย และ (ล่าง) ตัวผู้ (ดร.อัครพงษ์ สวัสดิพงษ์)
ภาพแสดงถิ่นอาศัยของปลากัดชนิดหลักๆ 4 ชนิดตามแหล่งน้ำต่างๆ ในไทย (ดร.อัครพงษ์ สวัสดิพงษ์)
ทีมวิจัยลงสำรวจปลากัดป่ามหาชัย (ดร.อัครพงษ์ สวัสดิพงษ์)
การรักษาแหล่งอาศัยของปลากัดทำให้เรามีต้นทุนพัฒนาปลากัดสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อการพาณิชย์ต่อไป (ดร.อัครพงษ์ สวัสดิพงษ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น