xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! สภาพเขา “น่าน” โล้นทั้งลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภูเขาที่น่านถูกตัดไม้และเผาทำลายจนโล้น (นณณ์ ผานิตวงศ์)
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กลุ่มอนุรักษ์ความหลายทางชีวภาพอึ้งสภาพ เมืองน่าน พบการทำลายป่าไม้อย่างมโหฬารและเลวร้าย ภูเขาโล้นไปทั้งลูก ซ้ำเผาหญ้าเผาป่าจนเหลือแต่ตอ หวั่นขาดผืนป่าซับน้ำจะทำให้น้ำไหลสู่เบื้องล่างอย่างเร็ว แม้จะสร้างเขื่อนก็ไม่อาจกักเก็บน้ำปริมาณมหาศาลได้

นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ระหว่างที่เขาและคณะเดินทางไป จ.น่านเพื่อไปสำรวจปลาต้นน้ำน่าน ซึ่งมีความแปลกที่เป็นเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่อยู่ติดแม่น้ำโขง จึงมีปลาจากแม่น้ำโขงผสมเข้ามาอยู่ด้วย แต่สิ่งที่ได้เห็นทำให้ต้องสลด

จากความตั้งใจที่จะไปบันทึกภาพปลาต่างๆ ในต้นน้ำน่าน แต่นณณ์และคณะกลับได้เห็นการตัดไม้ทำลายป่า “อย่างมโหฬารและเลวร้ายที่สุดในประเทศไทย” เพราะไม่เคยเห็นการทำลายป่ามากเช่นนี้ในจังหวัดอื่นๆ ภูเขาแทบทุกลูกที่ผ่านพบร่องรอยการตัดและเผาจนภูเขาโล้นไปหลายลูก ซึ่งเขากลัวว่าหากไทยขาดป่าต้นน้ำที่หน้าที่เหมือนฟองน้ำคอยอุ้มน้ำไว้แล้ว จะทำให้ฝนในสภาพอากาศวิปริตนี้ไหลลงสู่พื้นที่ข้างล่างเป้นก้อนใหญ่อย่างรวดเร็ว และทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำต่างๆ ก่อนที่ท่วมพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งไม่ว่าจะสร้างเขื่อน ทำแก้มลิงหรือแหล่งน้ำใดๆ ก็ไม่อาจรองรับน้ำปริมาณมหาศาลที่ไม่มีการดูดซับจากต้นน้ำก่อนได้

“ไม่นับรวมอากาศเสีย เขม่าฝุ่นควันอันตราย ซึ่งทำร้ายทุกคน ทั้งคนเผาและคนที่ไม่ได้เผา” ตอนหนึ่งของบทความเรื่อง “น่านรำลึก” ที่นณณ์เขียนเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของกลุ่ม และเขายังบอกเราอีกว่าเมื่อน้ำฝนปริมาณมากไหลสู่เบื้องล่างจนทำให้แหล่งน้ำขุ่น จะทำให้ปลาอยู่ไม่ได้ เพราะปลาล่าเหยื่อในแหล่งต้นน้ำนั้นจะอาศัยสายตาในการล่าเหยื่อ หากน้ำขุ่นก็มองไม่เห็น ส่วนปลาประเภทที่กินตะไคร่น้ำที่เกาะตามหินก็จะได้รับผลกระทบ หากตะกอนตกลงมาเยอะจนทับถมหินก็ทำให้แสงส่องลงไปไม่ถึงและทำให้ตะไคร่น้ำไม่เติบโต

บทความของนณณ์ได้ชี้ปัญหาว่าหากฝนตกลงภูเขาโล้นๆ จะทำลายหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ และทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร เกหษตรกรต้องซื้อปุ๋ยและสารเคมีบำรุงดิน ส่วนหน้าดินที่ถูกชะลงไปยังแหล่งน้ำก็จะทำให้คุณภาพน้ำแย่ลง ส่งผลปลาตายหรือหากินไม่ได้ แล้วลดจำนวนลง ทำให้ชาวบ้านขาดอาหารจากแหล่งน้ำ นอกจากนี้เมื่อฝนชะหน้าดินมากๆ ก็จะเกิดตะกอนทับถมตามแหล่งน้ำจนตื้นเขิน ซึ่งในกรณีของแม่น้ำน่านนั้นตะกอนจะไปตกที่เขื่อนสิริกิตต์ ทำให้กักเก็บน้ำได้น้อยลงและอาจเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่คาด
น้ำมาง ที่ไหลผ่าน อ.บ่อเกลือ ขุ่นขลักจากการขุดลอกที่บริเวณต้นน้ำ
ฝายบริเวณ อ.บ่อเกลือ เป็นการทำลายระบบนิเวศลำธารต้นน้ำ
ลำธารแห้งสนิท
ปลางวงที่โดดเด่นในแหล่งน้ำว้าหายไปอย่างไร้ร่องรอย
ปลาหลายชนิด เช่น ปลาแค้ห้วย ปรับตัวอาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณแก่งเท่านั้น
ปลาค้างคาวศิลาเพชร (ตัวบน) และปลาผีเสื้อน่าน (ตัวล่าง) เป็นปลาเฉพาะถิ่นของต้นแม่น้ำน่าน ไม่พบที่อื่นใดในโลก
ป่าหายไป
ขยะในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น