“แอนตาร์กติกา” ทวีปอันหนาวเหน็บและห่างไกลกำลังถูกคุกคามจาก “เอเลี่ยนสปีชีส์” โดยนักวิจัยได้ขูดตามเสื้อผ้าและรองเท้าบูทของนักท่องเที่ยวและนักวิทยาศาสตร์ที่ไปเยือนทวีปดังกล่าว และพบว่าส่วนใหญ่มีเมล็ดพืชติดมาด้วย และพืชต่างถิ่นนี่เองกำลังเจริญเติบโตบนคาบสมุทรแอนตาร์กติกาที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว
บีซีซีนิวส์อ้างรายงานที่เขียนลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอคาเดมีออฟไซน์ส (Proceedings of the National Academy of Sciences หรือพีเอ็นเอเอส (PNAS) ระบุว่า พืชที่ติดมากับพร้อมกับคนที่ไปเยือนทวีปแอนตาร์กติกานั้นกำลังแพร่กระจายเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น
“ผู้คนในอดีตมีความเชื่อว่า “ทวีปนี้มีน้ำแข็งปริมาณมหาศาลปกคลุมอยู่ ดังนั้น ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พืชจะเจริญเติบโตได้ แต่พวกเขาลืมไปว่ายังมีพื้นที่อีกน้อยกว่า 1% ที่เป็นพืชสำคัญเช่นกันนั้นไม่ได้ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง บางส่วนของพื้นที่ดังกล่าวนี้อยู่ในบริเวณคาบสมุทร และกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว” สตีเฟน ชอว์น (Steven Chown) จากมหาวิทยาลัยสเตลเลนบอสช (Stellenbosch University) ในเซาท์แอฟริกากล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของคาบสมุทรแอนตาร์กติกา (Antarctic Peninsula) ที่ยื่นไปทางปลายแหลมของอเมริกาใต้นั้นได้ร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียสในเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลก และผลที่เกิดขึ้นทำให้น้ำแข็งที่ปกคลุมกำลังบางลง
หลายๆ เกาะในพื้นที่ของแอนตาร์กติกามีการเปลี่ยนเชิงนิเวศที่สำคัญ อันเป็นผลจากสปีชีส์หรือสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่รุกราน ซึ่งเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ทั้งโดยบังเอิญและเกิดจากความตั้งใจ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าคาบสมุทรแอนตาร์กติกาและบางพื้นที่อื่นๆ รอบชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันนี้ภายในทศวรรษใหม่ที่จะมาถึง
“แอนตาร์กติกามีระบบนิเวศที่ยังคงความเป็นธรรมชาติแต่เดิม เป็นระบบนิเวษที่จุลชีพเจริญเติบโตได้อย่างดี และบนคาบสมุทร (แอนตาร์กติกา) ก็มีพืชดั้งเดิมอยู่ 2 สปีชีส์ แต่มันกำลังเปลี่ยนไปจากสปีชีส์ใหม่ที่เข้ามา” ศ.ชอว์นกล่าว
ขณะเดียวกันบีบีซีนิวส์รายงานด้วยว่าสภาพแวดล้อมทางทะเลก็กำลังเปลี่ยนแปลง โดยมีปูยักษ์เริ่มเข้าไปอาศัยในแหล่งน้ำที่เดิมเคยหนาวเย็นเกินไป
ทั้งนี้ ระหว่างปีสากลแห่งขั่วโลกเมื่อปี 2007-2008 ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างจากนักท่องเที่ยว ผู้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว รวมั้ทงนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สนับสนุนการทำงาน พบว่าผู้ไปเยือนทวีปแอนตาร์กติกา 1 คนจะพาเมล็ดพืชที่ติดตามร่างกายเฉลี่ย 9.5 เมล็ด แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะนำพาเมล็ดติดไปมากกว่านักท่องเที่ยว
“สิ่งที่เราพบคือรองเท้าบูทและกระเป๋าของคนเรานั้นเป็นสิ่งของที่มีวัตถุติดอยู่มากที่สุด โดยแผ่นใต้เชือกรองเท้าเป็นตำแหน่งที่เหมาะให้เมล็ดพืชถูกกักไว้มากที่สุดเมื่อคุณผู้เชือกรองเท้า แต่เราก็พบเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายไปตามชนิดของผ้าด้วยเช่นกัน” เควิน ฮิวจ์ส (Kevin Hughes) จากองค์การสำรวจแอนตาร์กติกาอังกฤษ (British Antarctic Survey: BAS) กล่าว
เมื่อเทียบบัญญัติไตรยางค์ตามสถิติของทีมวิจัยบีบีซีนิวส์สรุปว่า มีเมล็ดพืชประมาณ 70,000 เมล็ดหลุดไปยังแอนตาร์กติกาในแต่ละปี สถานที่นักท่องเที่ยวไปเยือนก็มีแนวโน้มที่จะเป็นจุดที่ร้อนที่สุดของทวีป ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้เมล็ดพืชส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ด้วย
นักวิจัยยังพบว่า แม้เมล็ดพืชหลายชนิดจะมีกำเนิดในอเมริกาใต้ แต่เมล็ดพืชจำนวนมากจากซีกโลกทางเหนือ ครึ่งหนึ่งมาจากพื้นที่หนาวเย็น และอาจจะเติบโตในพื้นที่ค่อนข้างร้อนของแอนตาร์กติกาได้ นอกจากนี้นักวิจัยยังเปรียบเทียบหลักฐานจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ กับสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่แล้ว
เกาะดีเซพชัน (Deception Island) ซึ่งอยู่ห่างจากคาบสมุทรของทวีปไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 100 กิโลเมตร มีหญ้า 2 ชนิด และแมลงหางดีด (springtail) ซึ่งเป็นแมลงเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ผิวดินชั้นบนและบนเศษใบไม้ 2 ชนิด อาศัยอยู่แล้ว
ส่วนพื้นที่ลาดชันทางตะวันตกของคาบสมุทรนั้นมีหญ้าสปีชีส์ โพอา แอนนูอา (Poa annua) หยั่งรากใกล้ๆ กับสถานีวิจัย 4 แห่ง ซึ่งบอกเป็นนัยว่าพืชชนิดนี้อาจถูกนำมาอย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของนักวิทยาศาสตร์ผู้มาเยือนก็ได้ และตอนนี้พืชชนิดนี้ได้ยึดครองเกาะย่อยๆ ของแอนตาร์กติกาเพื่อเจริญเติบโตแล้ว
นักวิจัยยังชี้อีกว่าจะทำการวัดในเร็วๆ นี้เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อติดตามสิ่งมีชีวิตที่รุกรานที่ปรากฎแล้ว และเพื่อป้องกันสปีชีส์รุกรานอื่นๆ เท่าที่จะทำได้
ด้าน ดร.ฮิวจ์สก็ได้ถอนรากถอนโคนต้นหญ้าที่มีแหล่งกำเนิดจากอเมริกาใต้ออกจากเกาะดีเซพชันซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวลงไปเยี่ยมฐานล่าวาฬเก่า โดยเขาพบสปีชีส์รุกรานดังกล่าวเพียงต้นเดียว แต่ทีมวิจัยก็เป็นกังวลต่อสปีชีส์ที่แพร่ขยายได้รวดเร็วและเกรงว่าจะสายเกินไป
ทางด้านสมาคมระหว่างประเทศของกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวแอนตาร์กติก (International Association of Antarctic Tour Operators: IAATO) ซึ่งมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวมากที่สุด ได้พยายามสร้างความแน่ใจว่าลูกทัวร์ที่ไปถึงพื้นที่ดังกล่าวจะปลอดจะเมล็ดพืชที่จะไปรุกรานสภาพแวดล้อมดังกล่าว และองค์การวิทยาศาสตร์ของบางประเทศก็ได้มีมาตรการเดียวกันนี้
“เราสามารถในแนวทางแนะนำสำหรับยานพาหนะ สร้างความมั่นใจว่าของบรรทุกจะไม่มีเมล็ดพืชและสัตว์ไมีกระดูกสันหลังติดอยู่ มั่นใจว่าเสื้อผ้าสะอาดและสวมรองเท้าบูทใหม่ อย่างไรก็ดี ผมสามารถพูดได้ว่าไม่ว่าที่ไหนที่คนเราไปถึง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่พวกเราจะนำพาสิ่งมีชีวิตอื่นติดไปด้วย และไม่ว่าเราจะทำอะไร ความพยายามที่ดีที่สุดคือลดอัตราที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ จะถูกนำไปเพิ่ม เราไม่มีทางที่ป้องกันได้ทั้งหมดอยู่แล้ว” ดร.ฮิวจ์ส์กล่าว