ผู้หญิงหลายคนยืนยันว่าเธอมีแน่ๆ แต่จากงานวิจัยเรื่องเพศศึกษาตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าวงการวิทยาศาสตร์ไม่อาจหาได้ชัดๆ ว่า “จี-สปอต” อยู่ตรงไหน
นักวิจัยทั้งสำรวจ ตรวจภาพถ่าย และตัดชิ้นเนื้อจากผู้หญิงไปตรวจ ความพยายามทั้งหมดดังกล่าวนั้นก็เพื่อหาตำแหน่งและนิยามบริเวณจุดสุดยอดของความรู้สึกทางเพศที่น่าจะมีบนผนังช่องคลอด ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า “จี-สปอต” (G-spot) และจากการทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ 96 ผลงาน ไลฟ์ไซน์ระบุว่าทีมวิจัยอิสราเอลและอเมริกันสรุปออกมาได้ 1 ข้อ
“ไร้ข้อกังขาใดๆ ลักษณะทางกายภาพที่เรียกว่า “จี-สปอต” ไม่มีอยู่จริง” ดร.อามิไช กิลเชฟสกี (Dr.Amichai Kilchevsky) แพทย์ประจำบ้านด้านระบบทางเดินปัสสาวะจากโรงพยาบาลเยล-นิวฮาเวน (Yale-New Haven Hospital) ในคอนเนตทิคัต สหรัฐฯ และหัวหน้าทีมเขียนรายงานวิจัยการค้นหาจี-สปอตซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการเจอร์นัลออฟเซกชวลเมดิซีน (Journal of Sexual Medicine) กล่าว
อย่างไรก็กี กิลเชฟสกียอมรับว่างานที่เขาและทีมศึกษานั้นไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้อง “1,000 เปอร์เซนต์” ซึ่งเปิดช่องให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ค้นหาในสิ่งที่เขาและทีมพลาดไปได้ แต่นักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่อยากศึกษาเรื่องนี้ให้แน่ชัดต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย
สำหรับคำว่าจี-สปอตนั้นไลฟ์ไซน์ระบุว่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.เอิร์นสต์ แกรเฟนแบร์ก (Dr.Ernst Gräfenberg) ผู้ล่วงลับ ซึ่งเขาได้อธิบายว่ามีพื้นที่กว้าง 1-2 เซนติเมตรบนผนังช่องคลอดที่ค่อนข้างไวต่อการสัมผัสเป็นพิเศษ และคำอธิบายของเขาได้ทำให้วงการแพทย์ตะวันตกเริ่มต้นค้นหาเพื่อสำรวจและเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับจุดดังกล่าว ซึ่งอ้างกันว่าเป้นพื้นที่ไม่กี่เซนติเมตรบนผนังช่องคลอดส่วนหน้าของร่างกายผู้หญิง หากแต่ ดร.แกรเฟนแบร์กไม่ใช่คนแรกที่เขียนถึงบริเวณที่เป็นจุดกระสันดังกล่าว และงานวิจัยของเขายังอ้างถึงคัมภีร์กามสูตรและชัยมงคลของอินเดียได้อธิบายถึงบริเวณที่ไวต่อการสัมผัสดังกล่าวได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11
จากการสำรวจสอบถามของทีม ดร.กิลเชฟสกีสรุปว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เชื่อว่าจี-สปอตมีจริง แม้ว่าบางส่วนจะบอกว่าพวกเธอไม่สามารถหาตำแหน่งดังกล่าวได้ ส่วนนักวิจัยทีมอื่นๆ ก็พยายามหาหลักฐานเชิงกายภาพ ซึ่งบ่อยครั้งที่การตัดชิ้นเนื้อจากผนังช่องคลอดมักพบปลายประสาทในบริเวณที่คาดว่าคือจี-สปอตมากกว่าบริเวณอื่นๆ ของผนังช่องคลอด แต่กิลเชฟสกีและทีมยังพบว่าการศึกษาชิ้นเนื้อนั้นไม่ใช่ผลสรุผสุดท้าย และยังชี้อีกว่าความรู้สึกไวต่อการสัมผัสในร่างกายมนุษย์นั้นไม่อาจประเมินได้ด้วยจำนวนปลายประสาทเพียงอย่างเดียว
การศึกษาหนึ่งเมื่อปี 2008 ได้ใช้ภาพถ่ายอัลตราซาวนด์สำรวจผนังช่องคลอดของผู้หญิง และพบหลักฐานของเนื้อเยื่อของจี-สปอตที่หนากว่าบริเวณอื่นในผู้หญิงที่รายงานว่ามีความรู้สึกทางเพศถึงจุดสุดยอด ส่วนผู้หญิงที่บอกว่าพวกเธอไม่เคยถึงจุดสุดยอดเลยมีเนื้อเยื่อในบริเวณดังกล่าวที่บางกว่า อย่างไรก็ดี การศึกษาภาพถ่ายอื่นๆ ในรายงานของกิลเชฟสกีไม่อาจหาจุดที่สรุปได้ว่าคือจี-สปอต
ท้ายที่สุด กิลเชฟสกีกล่าวว่า เขาหวังว่าข้อสรุปของเขานั้นจะเป็นกำลังใจให้แก่ผู้หญิงที่ไม่สามารถหาจี-สปอตในชีวิตประจำวันได้ และผู้หญิงที่ไม่อาจถึงจุดสุดยอดจากการสอดใส่ทางช่องคลอดด็ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ อีกทั้งเขาก็ไม่คิดว่าผู้หญิงที่อ้างว่ามีจี-สปอตนั้นเพี้ยน โดยสิ่งที่ผู้หญิงเข้าใจว่าเป้นจุดดังกล่าวก็คือส่วนต่อเนื่องของคริตอริส (clitoris) ซึ่งความเชื่อเดียวกับจี-สปอตมักระบุว่าจีสปอตอยู่หลังเนื้อเยื่อดังกล่าว
กิลเชฟสกีระบุว่ามีการศึกษาเดียวที่ชี้ว่ามีจี-สปอตที่แยกออกมาต่างหากจากเนื้อเยื่ออื่น โดยทีมวิจัยของมหาวิยาลัยรัทเจอร์ส (Rutgers University) ได้ขอให้ผู้หญิงหลายๆ คนเข้าทดสอบในเครื่องเอฟเอ็มอาร์ไอ (functional magnetic resonance: fMRI) ซึ่งการสแกนสมองพบว่าสมองรับการรู้การกระตุ้นบริเวณคริตอลิส ช่องคลอดและผนังช่องคลอดต่างกัน
ด้าน แบร์รี โคมิสารัค (Barry Komisaruk) หัวหน้าทีมศึกษาเอฟเอ็มอาร์ไอและเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยรัทเจอร์สสนับสนุนให้เปลี่ยนชื่อเรียกจี-สปอตเป็น “จี-แอเรีย” (G-area) หรือ “จี-รีเจียน” (G-region) แทน โดยเขาคิดว่าหลักฐานที่เพิ่มมากขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่าจี-สปอตไม่ใช่จุดที่แยกออกมาอย่างชัดเจนเหมือนที่เราเรียกต่อมไทรอยด์ พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเหมือนเมืองนิวยอร์กที่รวมโครงสร้างที่แตกต่างไว้จำนวนมาก
โคมิสารัคกล่าวว่า การกดบริเวณที่อ้างว่าเป็นจี-สปอตนั้นเป็นการกดท่อปัสสาวะและสิ่งที่เรียกว่าต่อมสกีนส์ (Skene's gland) ที่คล้ายคลึงกับต่อมลูกหมากของผู้ชาย ซึ่งบริเวณเหล่านี้มีบริเวณประสาทที่แตกต่างกัน ซึ่งเขาเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวชี้ถึงสาเหตุที่ผู้หญิงรู้สึกว่าบริเวณดังกล่าวไวต่อการสัมผัสต่างจากบริเวณอื่น
ขณะที่ เดบบี เฮอร์เบนิค (Debby Herbenick) นักวิทยาศาสตร์หญิงจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University ) และผู้เขียนหนังสือ “Great in Bed”ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดีเคพับบลิชิง (DK Publishing) เมื่อปี 2011 ชี้ว่าการเสนอข้อความที่กำกวมไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับงานวิจัยด้านเพศศึกษา
เฮอร์เบนิค ไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนถึงปรารถนาที่จะหาจุดทางกายภาพดังกล่าวอย่างเป็นที่สุด พร้อมยังกล่าวถึงการค้นพบของ ดร.เฮเลน โอ'คอนเนลล์ (Dr.Helen O'Connell) นักวิจัยชาวออสเตรเลียเผยให้เห็นว่าช่องคลอด คลิตอริสและท่อปัสสาวะนั้นทำงานร่วมกันอย่าซับซ่อน เมื่อส่วนใดเคลื่อนไหวก็จะกระตุ้นให้ส่วนอื่นเคลื่อนไหวด้วย
“เรายังไม่เคยเข้าใจในเรื่องจุดสุดยอดของความรู้สึกทางเพศทั้งหมดเลย และฉันก็ไม่มีเหตุผลว่าทำไมเราต้องคาดหวังที่จะค้นหาจี-สปอต” เฮอร์เบนิคกล่าว