ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยพบ “หมึก” พรางตัวเป็นปลาสิงโตและงูทะเล ด้วยการดัดแปลงการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสีให้กลมกลืน แต่คราวนี้เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นปลาแอบปลอมตัวเป็นหมึกพรางตัวบ้าง
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงน (gottingen university) เยอรมนี รายงานว่าปลาอมไข่แบล็กมาร์เบิล (black-marble jawfish) ได้ปลอมตัวเองให้กลมกลืนไปกับหนวดหมึกยักษ์พรางตัว (mimic octopus) และรายงานเรื่องดังกล่าวลงวารสารคอรัลรีฟส์ (Coral Reefs) โดยการเลียนแบบกลับไปกลับมานี้เกิดขึ้นที่บริเวณชายฝั่งของอินโดนีเซีย
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการค้นพบดังกล่าวเป็นหลักฐานแรกของการอยู่ร่วมกันที่ไม่ปกติระหว่างปลาอมไข่ (jawfish) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สตาลิกซ์ ซีเอฟ.ฮิสทริโอ (Stalix cf. histrio) ซึ่งเป็นปลาขี้ขลาดที่พบทั่วไปใกล้ๆ กับรูของพวกมันบริเวณพื้นทรายก้นทะเล และหมึกพรางตัวที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ธัวมอคโทปุส มิมิคัส (Thaumoctopus mimicus)
โกเดฮาร์ด คอปป์ (Godehard Kopp) เป็นผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวได้ และได้ส่งหลักฐานไปให้ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Academy of Sciences) ในซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ เพื่อช่วยจำแนกหลักฐานดังกล่าว
ดร.ลุยซ์ โรชา (Dr.Luiz Rocha) ภัณฑารักษ์ทางด้านมีนวิทยาสถาบันดังกล่าวระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องพิเศษ ไม่เพียงเพราะปลาอมไข่พรางตัวได้ แต่ยังเป็นกรณีแรกที่ปลาชนิดนี้มีวิวัฒนาการไปสู่การเลียนแบบได้ โดยมันพรางตัวเพื่อให้หมึกยักษ์คอยปกป้องขณะหาอาหาร