xs
xsm
sm
md
lg

อยากเปลี่ยน “ปฏิทิน” หรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยจอห์นฮอปกินส์เสนอปรับรูปแบบปฏิทินใหม่ให้สะดวกใช้ยิ่งขึ้น
นักวิจัยจากจอห์นฮอปกินส์เสนอรูปแบบปฏิทินแบบใหม่ที่ไม่ต้องเพิ่มวันที่ 29 ให้เดือน ก.พ.ทุกๆ 4 ปี และเป็นรูปแบบปฏิทินที่เรียบง่าย หลายๆ เดือนมีวันตรงกัน ซึ่งเดือนแบบใหม่จะมี 30 วันและ 31 เท่านั้น และชดเชยวันที่เกินมาเป็นสัปดาห์พิเศษทุกๆ 5-6 ปี

นักวิจัยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ในแมรีแลนด์ สหรัฐฯ ได้เสนอรูปแบบปฏิทินแบบใหม่แทนปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) ที่เราใช้มาจนถึงทุกวันนี้ยาวนาน 430 ปีแล้ว นับแต่สมัยพระสันตปาปาเกรกอรีที่ 13 (Pope Gregory XIII) ซึ่งปฏิทินแบบใหม่นี้มีรูปแบบวันที่ในแต่ละเดือนจะตรงกับวันในสัปดาห์เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น วันคริสตมาสของทุกปีจะตรงกับวันอาทิตย์ เป็นต้น

“ปฏิทินที่ผมสนับสนุนให้ใช้นี้ ไม่ใช่ปฏิทินที่มีความเที่ยงตรงปฏิทินเกรกอเรียน แต่เป็นปฏิทินที่ให้ความสะดวกมากกว่า” ความเห็นจาก ริชาร์ด เฮนรี (Richard Henry) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากจอห์นฮอปกินส์ ซึ่งไลฟ์ไซน์ระบุว่า เขาพยายามผลักดันใหมีการปฏิรูปปฏิทินมาหลายปี

ทั้งนี้ ปัญหาของการออกแบบปฏิทินที่ดีและถูกต้องตามเกณฑ์นั้นคือการที่แต่ละปีมีความยาว 365.2422 วัน ทำให้มีเวลาเกินที่ไม่ลงตัวกับวันซึ่งมี 24 ชั่วโมง หากเราไม่นับเวลาดังกล่าวเข้าไปด้วย ก็จะมีปัญหาเรื่องความคลาดเคลื่อนของฤดูกาล ซึ่งไลฟ์ไซน์ได้ยกตัวอย่างวันคริสตมาสอีกครั้งหนึ่งว่าหากชดเชยเวลาส่วนเกินเข้าไปด้วย วันสำคัญของชาวคริสต์ดังกล่าวก็จะมาหลังฤดูใบไม้ผลิ และปฏิทินเกรกอเรียนได้แก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มวันพิเศษให้เดือน ก.พ.ในปีอธิกสุรทิน

“มันน่าทึ่งมากที่คนในยุคกลาง (Middle Age) สามารถประดิษฐ์ปฏิทินขึ้นใหม่ที่มีความแม่นยำมาก” เฮนรีบอกทางไลฟ์ไซน์ แต่สิ่งที่กวนใจเขาคือเรื่องที่วันในแต่ละสัปดาห์นั้นกระโดดไปกระโดดมา ทั้งนี้ เพราะ 365 นั้นไม่ใช่ผลคูณด้วย 7 และสัปดาห์ที่มี 7 วันก็ไม่ลงตัวกับปฏิทินเกรกอเรียน ทำให้ในแต่ละปีนั้นมีวันในสัปดาห์ที่เลื่อนไปมา

“ทุกคนจำต้องปรับปฏิทินของตัวเอง เพื่อตารางเล่นกีฬา เพื่อตารางเรียน เพื่อทุกสิ่งอย่าง ซึ่งมันไม่จำเป็นเลย” เฮนรีกล่าว ซึ่งเขาได้พัฒนาปฏิทินที่เรียกว่า “ปฏิทินถาวรฮันเก-เฮนรี” (Hanke-Henry Permanent Calendar) ที่ตั้งชื่อตามเขาและ สตีฟ ฮันเก (Steve Hanke) นักเศรษฐศาสตร์ของจอห์นฮอปกินส์ที่สนับสนุนให้ปรับปฏิทินใหม่ โดยปฏิทินแบบใหม่นี้จะทำให้ “วันที่” มีวันในสัปดาห์ตรงกัน

รูปแบบของปฏิทินคือเดือนที่มี 30 วัน 2 เดือน ตามด้วยเดือนที่มี 31 วันอีก 1 เดือน เวียนจนครบ 12 เดือน ทำให้เดือนที่มี 30 วัน จากเดิมคือ ก.ย., เม.ย., มิ.ย.,และ พ.ย. เปลี่ยนเป็นเดือนที่มี 31 วัน คือ มี.ค.,มิ.ย.,ก.ย. และ ธ.ค.ส่วนวันที่เกินมาก็จะไม่เติมในปีอธิกสุรทิน แต่จะเพิ่มเป็น “สัปดาห์อธิกสุรทิน” (leap week) ในปีที่ 5 หรือ 6 แทน ซึ่งเรียกสัปดาห์พิเศษนี้ว่า “เอ็กซ์ตรา” (Xtr) ซึ่งปฏิทินแบบนี้จะคลาดเคลื่อนไปจากฤดูกาลอย่างมาก 3 วัน ซึ่งเฮนรีให้ความเห็นว่าเราเองก็ไม่รู้ถึงความแตกต่างในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล และเขาหวังว่าด้วยอิทธิพลของฮันเกจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อยอมรับปฏิทินนี้ได้

สำหรับฮันเกแล้วเขาอยากไดก้ปฏิทินแบบใหม่เพื่อความสะดวกในการคำนวณด้านการเงิน ซึ่งการคำนวณรายจ่ายเมื่อใช้ปฏิทินที่มีรูปแบบไม่เป็นระเบียบนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน และรูปแบบการเงินที่ต่างกันก็รับมือกับความซับซ้อนนี้ต่างกัน ซึ่งฮันเกและเฮนรีได้เขียนรายงานอธิบายเกี่ยวกับปฏิทินรูปแบบใหม่นี้ว่าง่ายต่อธุรกิจ การนัดกันในช่วงวันหยุดก็เป็นเรื่องง่ายที่จะกำหนดเวลา

สำหรับวันที่ทั้งสองคนเห็นว่าควรสาธิตการเปลี่ยนแปลงปฏิทินนี้คือวันที่ 1 ม.ค.2012 เพราะตรงกับวันอาทิตย์ทั้งปฏิทินเกรกอเรียนและปฏิทินใหม่อันเรียบง่ายของพวกเขา แต่วันดังกล่าวสั้นเกินไปสำหรับการปรับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้สอดรับปฏิทินแบบใหม่ ดังนั้น เป้าหมายที่เขาคิดว่าจะทำได้สำเร็จคือในวันที่ 1 ม.ค.2017 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ทั้งตามปฏิทินแบบเกรกอเรียนและแบบฮันเก-เฮนรี

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเรียบง่ายแค่ไหนแต่ปฏิทินของฮันเกและเฮนรีก็ยังต้องเผชิญกับกำแพงกดดันจากมวลชน ซึ่งพวกเขาก็ยอมรับว่าปฏิทินใหม่นี้จะถูกปฏิเสธเมื่อมองในเรื่อง “วันเกิด” อันจำเพาะของแต่ละคน แต่เขาได้ให้ความเห้นง่ายๆ ว่า เราสามารถฉลองวันเกิดวันไหนก็ได้ตามใจ และอีกปัญหาคือปฏิทินรูปแบบใหม่นี้มี “ศุกร์ 13” ถึง 4 วัน ถึงอย่างนั้นเฮนรีก็ยังหวังว่าการไม่ยอมรับจากสาธารณะนี้จะกินเวลาสั้นๆ ไม่กี่สิบปี

แล้วคุณล่ะ...อยากเปลี่ยน “ปฏิทิน” หรือยัง?
รูปแบบปฏิทินของฮันเกและเฮนรี ซึ่ง “สัปดาห์พิเศษ” ตามแบบปฏิทินของอันเกและเฮนรีจะเพิ่มในปีที่วันปีใหม่หรือวันสิ้นปีตรงกับวันพฤหัสบดี
กำลังโหลดความคิดเห็น