แม้ว่า “ซอโรพอด” คือไดโนเสาร์กินพืชที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์และพบกระจายอยู่ทั่วทุกทวีป แต่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้พบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ประเภทนี้ในทวีปแอร์ตาร์กติกา
ทั้งนี้ ซอโรพอด (Sauropoda) คือ ไดโนเสาร์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 โดยไซน์เดลีระบุว่า มีสายพันธุ์ที่จำแนกได้ทั้งหมด 150 สปีชีส์ ซึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงสายพันธุ์ที่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่ยนโลกด้วย และแม้ว่าจะมีซากซอโรพอดจำนวนมากถูกค้นพบในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลียและยุโรป แต่ยังไม่เคยมีบันทึกว่าค้นพบซอโรพอดในทวีปแอนตาร์กติกาเลย ขณะที่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดสำคัญอื่นๆ ในขั้วโลกใต้มาแล้ว
ดร.อิกนาซิโอ อเลฮันโดร เซอร์ดา (Dr. Ignacio Alejandro Cerda) จากสภาวิจัยวิทยาศาสตร์และวิชาการเฉพาะด้านอาร์เจนตินา (National Scientific and Technical Research Council) หรือ โคนิเซท (CONICET) ในอาร์เจนตินา ได้รายงานการค้นพบซอโรพอดในแอนตาร์กติกาลงวารสารเดอะไซน์ออฟเนเจอร์ (The Science of Nature) ซึ่งเป็นการค้นพบไดโนเสาร์กินพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรกขั้วโลกใต้ โดยพวกเขาได้ค้นพบกระดูกสันหลังตอนกลางของหางที่ไม่สมบูรณ์ ที่เกาะเจมส์รอสส์ (James Ross Island)
ทีมวิจัยจำแนกไดโนเสาร์ที่พบให้เป็น “ไททานอซอร์” (titanosaur) ซึ่งเป็นกลุ่มซอโรพอดที่โดดเด่นและกำเนิดขึ้นในยุคครีเทเชียสตอนต้น (Early Cretaceous) และอยู่มาจนถึงการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ที่บินไม่ได้ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย (Late Cretaceous) และแม้ว่าไดโนเสาร์ชนิดนี้จะเป็นซอโรพอดที่แพร่กระจายมากที่สุด แต่เราก็ยังไม่เข้าใจถึงกำเนิดและการแพร่กระจายของสายพันธุ์มากนัก
“การค้นพบของเรา และรายงานที่ตามมาเกี่ยวกับซากไดโนเสาร์ซอโรพอดเหล่านี้ในแอนตาร์กติกาได้เพิ่มองค์ความรู้ของเราในเรื่องไดโนเสาร์ประจำถิ่นระหว่างยุคปลายครีเทเชียสของทวีปแห่งนี้” ทีมวิจัยระบุในรายงาน โดยช่วงครีเทเชียสนั้นอยู่ในช่วง 65.5-99.6 ล้านปีก่อน โดยสิ้นสุดยุคเมื่อไดโนเสาร์สูญพันธุ์