xs
xsm
sm
md
lg

ชม "ดวงจันทร์" เข้าสู่เงาโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ภาพดวงจันทร์ขณะเกิดอุปราคาตั้งแต่เข้าสู่เงามืด จนเต็มดวง (สีแดงอิฐ) แล้วออกจากเงามืด (แฟ้มภาพจากบีบีซีนิวส์ก่อนปรากฏการณ์เมื่อ 10 ธ.ค.54)
ค่ำคืนวันที่ 10 ธ.ค.นี้ นักสังเกตปรากฏการณ์ฟ้าทั้งในเอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือจะได้ชมจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบปี ซึ่งหากพลาดหนนี้ต้องรอถึงปี 2557 จึงจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ติดตามนักเรียนชั้น ม.1-2 โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง จ.ระยอง จำนวน 50 คน ไปสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค.54 นี้ ณ หอดูดาวเกิดแก้ว อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี

นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนร่วมสังเกตจันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งนอกจากสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าและกล้องโทรทรรศน์แล้ว ทุกคนยังต้องบันทึกข้อมูลระหว่างเกิดปรากฏการณ์ ได้แก่ เวลาเมื่อดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดในสัมผัสแรก สัมผัสเงามืดมิดดวง สัมผัสที่ดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด และเมื่อดวงจันทร์ออกจากเงามืดทั้งดวง พร้อมทั้งวาดภาพแสดงรายละเอียดขณะเกิดปราฏการณ์ทุก 20 นาที

ทั้งนี้ ดวงจันทร์จะเข้าสู่เงามืดเวลา 19.46 น. และเริ่มเข้าสู่เงามืดเต็มดวงเวลา 21.06 น. แล้วสิ้นสุดเวลา 21.57 น. โดยกินเวลาคราสเต็มดวงทั้งหมด 51 นาที จากนั้นจึงเริ่มออกจากเงามืดจนหมดเวลา 23.17 น. และออกจากเงามัวทั้งหมดเวลา 00.30 น.ของวันที่ 11 ธ.ค.54

นอกจากกิจกรรมที่หอดูดาวเกิดแก้วแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่จัดกิจกรรมสังเกตจันทรุปราคา เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ที่ร่วมกับโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จากท้องฟ้า จ.เชียงใหม่ และ จ.ฉะเชิงเทรา ผ่านเว็บไซต์ www.narit.or.th

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ยังเกิดขึ้นพร้อมจันทรุปราคาบนดวงจันทร์ไอโอ (Io) ของดาวพฤหัสบดี ซึ่ง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร.อธิบายว่าดวงจันทร์ไอโอจะเข้าไปด้านหลังดาวพฤหัสบดีเวลา 18.22 น. ซึ่งช่วงนี้จะยังไม่สังเกตเห็นอะไร จนกระทั่งดวงจันทร์เริ่มโผล่จากเงามืดเวลา 21.22 น. จึงจะเห็นดวงจันทร์ค่อยๆ สว่างขึ้น

ทั้งนี้ จันทรุปราคาเป็นอุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อเงาของโลกทอดไปบนดวงจันทร์ แต่ดวงจันทร์จะไม่มืดสนิทเมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เพราะแสงสีแดงของดวงอาทิตย์จะผ่านชั้นบรรยากาศโลกไปตกกระทบบนดวงจันทร์ และจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 ต.ค.57
แผนภาพแสดงบริเวณที่เห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคา 4 บริเวณ (ซ้ายไปขวา) แถบบริเวณที่เห็นจันทรุปราคาขณะดวงจันทร์กำลังลับขอบฟ้า, แถบมืดที่มองไม่เห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคา , บริเวณที่เห็นจันทรุปราคาขณะดวงจันทร์กำลังขึ้น และบริเวณที่เห็นจันทรุปราคาตลอดปรากฏการณ์ (บีบีซีนิวส์)
ภาพบน แสดงการเกิดจันทรุปราคาซึ่งเกิดจากการโคจรของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์มาอยู่ตรงกัน ส่วนภาพล่างแสดงการเคลื่อนผ่านของดวงจันทร์เข้าไปในเงาโลกที่เวลาต่างๆ (บีบีซีนิวส์/นาซา)
ภาพดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเวลา 19.42 น. (หอดูดาวเกิดแก้ว)
ภาพดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเวลา 19.47 น. (หอดูดาวเกิดแก้ว)
นักเรียนเตรียมความพร้อมก่อนสังเกตจันทรุปราคา
ภาพดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเวลา 20.30 น. (หอดูดาวเกิดแก้ว)
นักเรียนตั้งกล้องสังเกตจันทรุปราคา
แบบบันทึกการสังเกตจันทรุปราคา



จันทรุปราคาเต็มดวงกลายเป็นสีแดงอิฐเวลา 21.08 น. (หอดูดาวเกิดแก้ว)
ภาพจันทรุปราคาเมื่อ 10 ธ.ค.54 โดย วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ซึ่งบันทึกผ่านกล้องดูดาว 8 นิ้ว ณ หอดูดาวบัณฑิต
สดร.ตั้งกล้องโทรทรรศน์ในกิจกรรมสังเกตจันทรุปราคาบริเวณลานสวนราชพฤกษ์ เชียงใหม่
สดร.จัดกิจกรรมสังเกตจันทรุปราคาบริเวณลานสวนราชพฤกษ์ เชียงใหม่


คลิปอธิบายการเกิดจันทรุปราคาโดย องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)



กำลังโหลดความคิดเห็น