xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “อีกา” ในแง่มุมฉลาดๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีการู้จักใช้กระจกเป็นตัวช่วยหาอาหาร (บีบีซีนิวส์)
เห็น “อีกา” ทีไร ใครๆ ก็นึกถึงแต่แง่มุมร้ายๆ บ้างก็ว่าเป็นสัญลักษณ์นำพาโชคร้าย บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ขี้ขโมย นิสัยไม่ดี แต่หลายๆ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่านกตัวดำๆ นี้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ขึ้นเทียบชั้นสัตว์แสนรู้อย่างลิงไพรเมทไปจนถึงช้างตัวใหญ่เลยทีเดียว วางอคติแล้วมาทำความรู้จักเพื่อนร่วมโลกชนิดนี้ด้วยมุมมองใหม่กันดีกว่า

หนึ่งในงานวิจัยที่บอกชี้ว่า “อีกา” ตัวดำนั้นแสนฉลาดคืองานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อคแลนด์ (University of Auckland) นิวซีแลนด์ ซึ่งได้จับนกกาจากธรรมชาติมาทดสอบปฏิกิริยาของสัตว์ชนิดนี้ที่มีต่อภาพสะท้อนจากกระจก จากการศึกษาของพวกเขาบีบีซีนิวส์รายงานว่านกกาไม่ได้จดจำภาพตัวเองได้ แต่นกเหล่านั้นกลับใช้กระจกเป็นเครื่องมือหาอาหาร ความสามารถดังกล่าวได้ยกชั้นให้นกตัวดำๆ กลายเป็นสัตว์แสนรู้เช่นเดียวกับสัตว์ในตระกูลไพรเมท รวมถึงช้างที่รู้จักสร้างข้อมูลด้วยภาพสะท้อนจากกระจก

นกกาที่นักวิจัยนำมาศึกษาคือกานิวคาลีโดเนีย (New Caledonian crow) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “คอร์วัส มอเนดูลอยเดส” (Corvus moneduloides) โดยเป็นที่รู้กันว่ากาชนิดนี้มีความฉลาดและรู้จักใช้เครื่องมือหาอาหาร อย่างการใช้กิ่งไม้แหย่ลงในรูหรือรอยแยกเพื่อจับแมลง และการทดลองครั้งนี้เป็นการจับนกกาในธรรมชาติมาศึกษาปฏิกิริยาที่มีต่อภาพสะท้อนในกระจก และได้รายงานผลการศึกษาผ่านวารสารแอนิมอลบีฮาฟวิเออร์ (Animal Behaviour)

สำหรับชื่อกานิวคาลีโดเนียนั้นเป็นชื่อที่ตั้งตามเกาะที่พบกาชนิดนี้ ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของออสเตรเลียและทางเหนือของนิวซีแลนด์

นกกานิวคาลีโดเนีย 10 ตัวถูกจับในขังไว้ในกรงขนาดใหญ่ เพื่อให้วิทยาศาสตร์ได้สังเกตและบันทึกพฤติกรรมของนกที่ตอบสนองต่อกระจก ซึ่งผลจากการทดลองทางบีบีซีนิวส์ระบุว่า กาทั้งหมดมีปฏิกิริยาต่อภาพสะท้อนของตัวเองราวกับเผชิญหน้ากับคู่แข่ง โดยแสดงอาการยื่นหัวไปข้างหน้า ยกหางขึ้นสูง หรือแม้กระทั่งเข้าโจมตีภาพสะท้อนที่เห็น ซึ่งปฏิกิริยาที่เป็นปฎิปักษ์ต่อภาพสะท้อนของตัวเองนี้ ทาง เฟลิเป เอส เมดินา โรดริกิซ (Felipe S Medina Rodriguez) หัวหน้าทีมวิจัยนี้กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องแปลก”

เมดินาอธิบายว่า โดยปกติสัตว์จะส่องกระจกอยู่นานก่อนที่จะแสดงออกถึงความเข้าใจว่าภาพที่เห็นนั้นคือตัวเอง ซึ่งเมื่ออีกาถอยห่างจากกระจกแล้วไม่เห็นภาพสะท้อนของตัวเอง มันก็จะทำการค้นหา “นกตัวอื่น” ด้านหลังกระจกอย่างถี่ถ้วน ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า พฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นเพราะนกไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้กระจก ซึ่งพฤติกรรมเดียวกันนี้เรายังพบได้ในลูกทารกของสัตว์ไพรเมทและเด็กวัย 2 ขวบ

หากแต่ในการทดลองของทีมวิจัยอ็อคแลนด์นี้ยังพบเรื่องที่น่าประหลาดใจด้วย โดยนักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นภารกิจที่จะทดสอบว่าอีกานั้นสามารถใช้กระจกเพื่อหาตำแหน่งของก้อนเนื้อที่ซ่อนอยู่ในตำแหน่งซึ่งมองเห็นผ่านกระจกได้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าอีกาที่จับมาทดสอบนั้นเข้าใจได้ว่าภาพสะท้อนของก้อนเนื้อนั้นสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ซ่อนอย่างไร

“เราต่างประหลาดใจที่อีกาเรียนรู้การใช้ภาพสะท้อนจากกระจกค้นหาตำแหน่งอาหารที่ซ่อนอยู่ได้อย่างว่องไว ซึ่งปกติสัตว์อื่นๆ ต้องใช้เวลานานกว่านี้ในการเริ่มต้นใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของกระจกค้นหาวัตถุที่สามารถมองเห็นได้ตรงๆ” เมดินาให้ความเห็น และเขายังบอกอีกว่าอีกาบางตัวก็รู้จักดัดแปลงวิธีการมากกว่าตัวอื่น ซึ่งความแตกต่างในการความสามารถนี้ชี้ว่าอีกาไม่ได้สัมผัสการรับกลิ่นค้นหาอาหาร ที่สำคัญอีกาตัวที่เจ๋งที่สุดของพวกเขาซึ่งเป็นลูกนกเพศเมียชื่อ “โอโบ” (Obo) นั้น ไม่สามารถหาอาหารได้เมื่อพวกเขากลับกระจกไปอีกด้าน สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดว่าอีกาใช้ข้อมูลภาพที่เห็นผ่านกระจกแก้ปัญหาตรงหน้า

การศึกษาก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า นกแก้วเทาแอฟริกัน (African grey parrot) ลิงใหญ่ (great ape) โลมา ลิง และช้างเอเชีย ต่างมีความสามารถในการใช้ข้อมูลภาพจากกระจกได้ แต่ตามที่เมดินาระบุ กานิวคาเลโดเนียนั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มเฉพาะ เนื่องจากพวกมันเป็นสัตว์ที่จับมาจากธรรมชาติ ทั้งนี้ สัตว์ที่นำมาทดลองนั้นถูกขังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการจัดแต่ง มีการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์และมีการฝึกฝน ดังนั้น เมดินากล่าวว่าพวกเขาไม่อาจทราบได้ว่าทักษะในการแก้ปัญหานั้นมาจากประสบการณ์ที่กักขังและการทดลองของมนุษย์มากแค่ไหน และจะมีการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติในป่ามากเท่าใด

อีกงานวิจัยเกี่ยวกับความฉลาดของอีกาเป็นของทีมวิจัยญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยยูสึโนมิยา (Utsunomiya University) ที่นำโดย โชเออิ ซูกิตะ (Shoei Sugita) ซึ่งได้ศึกษาอีกาในธรรมชาติ 8 ตัว และพบว่ากาเหล่านั้นมีความสามารถในการจดจำสัญลักษณ์ที่ออกแบบมาเพื่อแสดงถึงความแตกต่างของจำนวน โดยงานวิจัยนี้ทาง PhysOrg.com รายงานว่าทีมวิจัยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารแอนิมอลบีฮาฟวิเออร์เช่นเดียวกับทีมวิจัยจากนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ ทีมวิจัยญี่ปุ่นได้ทำการทดลองเพื่อประเมินว่า กาจะรู้หรือไม่ว่าภาชนะใดซ่อนอาหารไว้ โดยมีสัญลักษณ์ติดไว้ที่ฝาภาชนะ

ภาชนะที่ใช้ทดสอบกาเป็นภาชนะขุ่นๆ 2 ใบ โดยใบหนึ่งติดหมายเลข 2 อีกใบหนึ่งติดหมายเลข 5 ซึ่งภาชนะหมายเลขนี้มีอาหารเก็บไว้ภายใน และเมื่อให้กาเลือกภาชนะ พบว่ากาเลือกภาชนะที่มีบรรจุอาหาร 70% และเมื่อทดลองเปลี่ยนสัญลักษณ์ก็พบกายังสามารถเลือกสัญลักษณ์ที่ปิดบนภาชนะที่อาหารได้ 70-90% ทั้งนี้ นักวิจัยญี่ปุ่นได้ออกแบบการทดลองที่แตกต่างกันทั้งหมด 20 การทดลอง อาทิ ให้กาเลือกภาชนะอาหารที่ปิดสัญลักษณ์ระหว่างเลข 3 กับเลข 5, เลข 5 กับเลข 6 และเลข 5 กับเลข 8 เป็นต้น ซึ่งพวกเขาสรุปว่า กามีแนวโน้มจะเลือกตัวเลขที่มีจำนวนมากกว่า

นอกจากนี้เมื่อ 1-2 ปีก่อนทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยยูสึโนมิยะยังได้ทำการทดลองแล้วพบว่า กาสามารถแยกความแตกต่างระหว่างใบหน้าของผู้หญิงและผู้ชายได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น