มาแล้ว...รางวัลอารมณ์ดีให้คุณมีอารมณ์ขัน “อิกโนเบล” รางวัลสำหรับผลงาน “แบบนี้ก็มีด้วย” แต่ไม่ไร้สาระไปวันๆ หากแต่วิจัยกันอย่างจริงจัง อมยิ้มกันก่อนไปฟังผล “โนเบล” โดยปีนี้เหล่านักพยากรณ์วันสิ้นโลกได้รับรางวัลสาขาคณิตศาสตร์กันไปถ้วนหน้า
ประกาศผลกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับรางวัล “อิกโนเบล 2011” (the 2011 Ig Nobel Prizes) ณ ณ แซนเดอร์ส เธียเตอร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐฯ เมื่อเช้าตรู่วันที่ 30 ก.ย.นี้ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่า มีผู้ได้รับรางวัล 7 คน จากทั้งหมด 10 คนประจำปีนี้เดินทางมารับรางวัลด้วยตัวเอง สะท้อนถึงการใช้ความสำคัญต่อรางวัลที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากจัดขึ้นมาเป็นปีที่ 21 แล้ว
รางวัลนี้จัดขึ้นโดยนิตยสารรายปี "งานวิจัยที่ไม่น่าจะลอกเลียนแบบได้" (Annals of Improbable Research) ซึ่งเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ตามแนวคิดว่า “ให้คนหัวเราะก่อน แล้วจะทำให้พวกเขาได้คิดตามมา"
รูปแบบการจัดประจำปี 2011 เป็นเรื่อง “เคมี” ซึ่งไลฟ์ไซน์รายงานว่า ผู้ได้รับรางวัลประจำปีนี้ได้รางวัลตารางธาตุจิ๋วเป็นที่ระลึก และมีการแสดงในพิธีมอบรางวัลที่หลากหลาย อาทิ การร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเคมี การประกวดเพื่อชนะรางวัลนัดเดทกับนักวิทยาศาสตร์ การปาจรวดกระดาษ และการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้ได้รับรางวัลให้ทันเวลาก่อนที่หนูน้อย 8 ขวบผู้กำกับเวลาจะกรีดร้อง เป็นต้น
ในจำนวนผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 10 สาขานั้น มี ดาร์ริล กวินน์ (Darryl Gwynne) และ เดวิด เรนท์ซ (David Rentz) นักกีฏวิทยาออสเตรเลียที่ใช้เวลาถึง 23 ปี เพื่อศึกษาพฤติกรรมแมลงทับในออสเตรเลียที่พยายามผสมพันธุ์กับขวดเบียร์ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวทำให้พวกเขาได้รับรางวัลนี้ในสาขาชีววิทยา ซึ่งพวกเขาอธิบายว่าเพราะลักษณะการสะท้อนของขวดเบียร์คล้ายคลึงกับรุปแบบการสะท้อนแสงของปีกแมลงทับตัวเมีย และทำให้แมลงตัวผู้เกิดสับสน
ส่วนบรรดานักพยากรณ์วันสิ้นโลกทั้งหลายต่างได้รับรางวัลอิกโนเบลสาขาคณิตศาสตร์จากผลงานของพวกเขาที่สอนให้โลกต้องรอบคอบในการสรุปและการคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ อาทิ โดโรธี มาร์ติน (Dorothy Martin) จากสหรัฐฯ ที่ทำนายว่าโลกจะพบจุดจบในปี 1954 แพท โรเบิร์ทสัน (Pat Robertson) จากสหรัฐฯ ผู้ทำนายวันสิ้นโลกในปี 1982 และฮาโรลด์ แคมปิง (Harold Camping) จากสหรัฐฯ ผู้ทำนายว่าโลกจะหายนะในวันที่ 6 ก.ย.1994 และภายหลังได้เปลี่ยนวันสิ้นโลกเป็น 21 ต.ค.2011 เป็นต้น
นอกจากนี้ อาร์ตูรัส ซูโอคัส (Arturas Zuokas) นายกเทศมนตรีแห่งกรุงวิลนิอุส (Vilnius) เมืองหลวงลิทัวเนีย (Lithuana) ยังได้รับรางวัลอิกโนเบลสาขา “สันติภาพ” จากการสาธิตวิธีแก้ปัญหาการจอดรถผิดกฎจราจรด้วยการขับรถถังบดขยี้ ซึ่งวิดีโอขณะเขาขับรถถังทับรถเบนซ์หรูที่จอดอย่างผิดกฎหมายนั้นมีผู้คลิกชมในยูทูป (Youtube) มากกว่า 7 ล้านครั้ง
“ผมเป็นผู้ศรัทธาตัวยงที่เชื่อในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไปยังคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ และผมเชื่อว่าอารมณ์ขันเป็นวิธีที่ดีในการสื่อสารดังกล่าว และนั่นเป็นเหตุผลที่ผมเชื่อว่าอิกโนเบลเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างมาก” กวินน์ให้ความเห็นแก่บีบีซีนิวส์
****************************
สำหรับผลรางวัลอิกโนเบลใน 10 สาขา ได้แก่
สรีรศาสตร์ - แอนนา วิลกินสัน (Anna Wilkinson) จากสหราชอาณาจักร นาตาลี ซีบันซ์ (Natalie Sebanz) จากเนเธอแลนด์ ฮังการีและออสเตรีย อิสาเบลลา มันด์ล (Isabella Mandl) จากออสเตรีย และ ลุดวิก ฮูเบอร์ (Ludwig Huber) จากออสเตรเลีย จากการศึกษาว่า “ไม่มีหลักฐานการหาวติดต่อกันใสเต่าตีนแดง (Red-Footed Tortoise)”
ผู้มาร่วมงานมอบรางวัล - ลุดวิก ฮูเบอร์
REFERENCE: 'No Evidence Of Contagious Yawning in the Red-Footed Tortoise Geochelone carbonaria," Anna Wilkinson, Natalie Sebanz, Isabella Mandl, Ludwig Huber, Current Zoology, vol. 57, no. 4, 2011. pp. 477-84.
เคมี - มาโกโตะ อิมาอิ (Makoto Imai) นาโอกิ อูรุชิฮาตะ (Naoki Urushihata) ฮิเดกิ ทาเนมูระ (Hideki Tanemura) ยูกิโนบุ ทาจิมะ (Yukinobu Tajima) ฮิเดกิ โกโตะ (Hideaki Goto) โคอิชิโร มิโซกุชิ (Koichiro Mizoguchi) และจุนิชิ มุรากามิ (Junichi Murakami) จากญี่ปุ่น “จากการประเมินความหนาแน่นอุดมคติของละอองวาซาบิที่จะปลุกผู้คนที่หลับใหลในกรณีไฟไหม้หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ และประยุกต์ใช้ความรู้นี้สู่การพัฒนาอุปกรณ์เตือนภัยวาซาบิ”
ผู้มาร่วมงานมอบรางวัล - มาโกโตะ อิมาอิ , ฮิเดกิ ทาเนมูระ, ยูกิโนบุ ทาจิมะ, ฮิเดกิ โกโตะ, โคอิชิโร มิโซกุชิ, และจุนิชิ มุรากามิ
REFERENCE: US patent application 2010/0308995 A1. Filing date: Feb 5, 2009.
การแพทย์ - ไมร์แยม ทุค (Mirjam Tuk) จากเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร เดบรา ทรัมเป (Debra Trampe) จากเนเธอร์แลนด์ และ ลุค วาร์ลอพ (Luk Warlop) จากเบลเยียม ร่วมกับ แมทธิว ลูอิส (Matthew Lewis) ปีเตอร์ สไนเดอร์ (Peter Snyder) และ โรเบิร์ต ฟิล์ดแมน (Robert Feldman) จากสหรัฐฯ โรเบิร์ต เพียตรแซก (Robert Pietrzak) เดวิด ดาร์บี (David Darby) และ พอล มารุฟฟ์ (Paul Maruff) จากออสเตรเลีย ที่ศึกษาว่า “คนเราจะตัดสินใจได้ดีกว่าในบางเรื่อง แต่ตัดสินใจแย่ในบางเรื่องเมื่อถูกกระตุ้นจากอาการปวดปัสสาวะ”
REFERENCE: "Inhibitory spillover: Increased Urination Urgency Facilitates Impulse Control in Unrelated Domains," Mirjam A. Tuk, Debra Trampe and Luk Warlop, Psychological Science, vol. 22, no. 5, May 2011, pp. 627-633.
REFERENCE: "The Effect of Acute Increase in Urge to Void on Cognitive Function in Healthy Adults," Matthew S. Lewis, Peter J. Snyder, Robert H. Pietrzak, David Darby, Robert A. Feldman, Paul T. Maruff, Neurology and Urodynamics, vol. 30, no. 1, January 2011, pp. 183-7.
จิตวิทยา – คาร์ล ฮัลวอร์ ไตเกน (Karl Halvor Teigen) จากมหาวิทยาลัยออสโล (University of Oslo) นอร์เวย์ จากศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่า “ทำไมในชีวิตประจำวันคนเราจึงถอนหายใจ”
ผู้มาร่วมงานมอบรางวัล - คาร์ล ฮัลวอร์ ไตเกน
REFERENCE: "Is a Sigh 'Just a Sigh'? Sighs as Emotional Signals and Responses to a Difficult Task," Karl Halvor Teigen, Scandinavian Journal of Psychology, vol. 49, no. 1, 2008, pp. 49–57.
วรรณกรรม – จอห์น เพอร์รี (John Perry) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐฯ จากทฤษฎีสร้างการผัดวันประกันพรุ่ง (Theory of Structured Procrastination) ของเขาเองที่กล่าวว่า “จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ให้ทำงานที่ตัวเองคิดว่าสำคัญเสมอ แม้จะมีงานอื่นที่คิดว่าสำคัญกว่า”
ผู้มาร่วมงานมอบรางวัล – เดบอราห์ วิลก์ส (Deborah Wilkes) เพื่อนร่วมงานของ เพอร์รี มารับรางวัลแทน
ชีววิทยา – ดาร์ริล กวินน์ (Darryl Gwynne) จากแคนาดา ออสเตรเลียและสหรัฐฯ และเดวิด เรนท์ซ (David Rentz) จากออสเตรเลีย และสหรัฐฯ จากค้นพบว่า แมลงทับชนิดหนึ่งจะผสมพันธุ์กับขวดเบียรยี่ห้อเฉพาะยี่ห้อหนึ่งในออสเตรเลียเท่านั้น
ผู้มาร่วมงานมอบรางวัล – กวินน์ และ เรนท์ซ
REFERENCE: "Beetles on the Bottle: Male Buprestids Mistake Stubbies for Females (Coleoptera)," D.T. Gwynne, and D.C.F. Rentz, Journal of the Australian Entomological Society, vol. 22, 1983, pp. 79-80
REFERENCE: "Beetles on the Bottle," D.T. Gwynne and D.C.F. Rentz, Antenna: Proceedings (A) of the Royal Entomological Society London, vol. 8, no. 3, 1984, pp. 116-7.
ฟิสิกส์ - ฟิลิปป์ แปร์แรง (Philippe Perrin) ซีริล แปร์โรต์ (Cyril Perrot) โดมินิค เดอวิแตร์น (Dominique Deviterne) และ บรูโน ราการูว์ (Bruno Ragaru) จากฝรั่งเศส และเฮอร์แมน คิงมา (Herman Kingma) จากเนเธอร์แลนด์ จากการศึกษาว่า “ทำไมนักกีฬาขว้างจักรถึงวิงเวียนศีรษะ แต่นักกีฬาขว้างตุ้มเหล็กจึงไม่มีอาการ”
ผู้มาร่วมงานมอบรางวัล – ผู้ได้รับรางวัลบันทึกวิดีโอมาร่วมงาน
REFERENCE: "Dizziness in Discus Throwers is Related to Motion Sickness Generated While Spinning," Philippe Perrin, Cyril Perrot, Dominique Deviterne, Bruno Ragaru and Herman Kingma, Acta Oto-laryngologica, vol. 120, no. 3, March 2000, pp. 390–5.
คณิตศาสตร์ - โดโรธี มาร์ติน (Dorothy Martin) จากสหรัฐฯ ผู้ทำนายว่าโลกจะพบจุดจบในปี 1954 แพท โรเบิร์ทสัน (Pat Robertson) ผู้ทำนายวันสิ้นโลกตรงกับปี 1982 เอลิซาเบท แคลร์ โพรเฟท (Elizabeth Clare Prophet) จากสหรัฐฯ ผู้ทำนายว่าโลกจะพบจุดจบในปี 1990 ลี จัง ริม (Lee Jang Rim) จากเกาหลี ผู้ทำนายว่าโลกจะพบจุดจบในปี 1992 เครโดเนีย มเวอรินเด (Credonia Mwerinde) จากอูกันดา ผู้ทำนายว่าโลกจะสิ้นสุดในปี 1999 และฮาโรลด์ แคมปิง (Harold Camping) จากสหรัฐฯ ที่ทำนายว่าโลกจะพบจุดจบในวันที่ 6 ก.ย.1994 และภายหลังได้ทำนายใหม่ว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 21 ต.ค.2011 จากการสอนให้ชาวโลกต้องรอบคอบในการสรุปและคำนวณเชิงคณิตศาสตร์
สันติภาพ - อาร์ตูรัส ซูโอคัส (Arturas Zuokas) นายกเทศมนตรีแห่งกรุงวิลนิอุส (Vilnius) เมืองหลวงลิทัวเนีย (Lithuana) สำหรับการสาธิตว่า ปัญหาการจอดรถหรูอย่างผิดกฎจราจรนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการขับรถถังทับ
ผู้มาร่วมงานมอบรางวัล - อาร์ตูรัส ซูโอคัส
ความปลอดภัยสาธารณะ – จอห์น เซนเดอร์ส (John Senders) จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) แคนาดา สำหรับการทดลองเรื่องความปลอดภัยเมื่อมีการขับรถยนต์ส่วนตัวบนทางด่วนสายหลัก ขณะที่กระบังหน้าของหมวดกระพือขึ้นลง ทำให้เขามองไม่เห็น
ผู้มาร่วมงานมอบรางวัล - จอห์น เซนเดอร์ส
REFERENCE: "The Attentional Demand of Automobile Driving," John W. Senders, et al., Highway Research Record, vol. 195, 1967, pp. 15-33. VIDEO
การทดลองของจอห์น เซนเดอร์ส
คลิปพิธีมอบรางวัลอิกโนเบล 2011
คลิกอ่านข่าว อิกโนเบล
- "ไกม์" นักฟิสิกส์คนแรกที่คว้า "อิกโนเบล" ควบ "โนเบล"
- "อิกโนเบล 2010" คิดได้ไงงานวิจัยแบบนี้ !
- ยามฉุกเฉิน "ควักยกทรงเป็นหน้ากากปิดจมูก" สุดยอดไอเดีย "อิกโนเบล 2009"
- "โค้ก" สังหารสเปิร์มพร้อมงานวิจัยค้าน ร่วมรับ "อิกโนเบล" 2008
- วิจัยขบขำจากนั้นขบคิด กับ “อิกโนเบล” 2007
- ขำๆ กับ “อิกโนเบล 2006” งานวิจัยที่ทำให้ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
- ดำดิ่งสู่ "25 ความคิดพลิกโลก" ผลงานนักเขียน "อิกโนเบล"