xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับนิตยสารวิทย์น้องใหม่ “ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการเปิดตัวหนังสือ SCIENCE ILLUSTRATED ณ ลานเอเทรี่ยม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ จัดถึงวันที่ 2 ต.ค.54
ท่ามกลางนิตยสารและหนังสือหลากคุณภาพบนแผงหนังสือเมืองไทย มีน้องใหม่ “ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด” ที่มาร่วมสร้างสีสันแก่วงการ ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นหนังสือเสริมความรู้ผุดขึ้นมาเป็นทางเลือกแก่ผู้อ่าน โดยเฉพาะนิตยสารทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่หลายครั้งต้องหลบฉากให้แก่หนังสือบรรเทิงและสื่อสนองความเชื่อที่มีอยู่ล้นหลาม

“ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด” (SCIENCE ILLUSTRATED) เป็นนิตยสารวิทยาศาสตร์หัวนอกที่แปลเป็นภาษาต่างๆ จำหน่ายใน 15 ประเทศทั่วโลก และมียอดจำหน่ายประมาณ 7 แสนฉบับ ส่วน ฉบับภาษาไทย ได้วางแผงแบบรายเดือน มาตั้งแต่เดือน ก.ค.54 ภายใต้การจัดจำหน่ายของ บริษัทโพสต์ อินเตอร์เนชันแนล มีเดีย จำกัด ที่ดูแลนิตยสารหัวนอกอื่นๆ อย่างเช่น แอลล์ (ELLE) แมรี แคลร์ (Marie Claire) และ มาร์ธา สจวร์ต ลิฟวิ่ง (Martha Stewart Living) เป็นต้น

เนื้อหาภายในนิตยสารแบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ 1.เทคโนโลยี ที่เสนอความรู้ด้านวิศวกรรม คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ และการสำรวจอวกาศ 2.การแพทย์ ที่รวบรวมองค์ความรู้ อาทิ การบำบัดโรค พันธุศาสตร์ จิตวิทยาและร่างกายของมนุษย์ เป็นต้น 3.ธรรมชาติ ที่ครอบคลุมเนื้อหาชีววิทยา สัตววิทยา การศึกษาพืชและสัตว์โบราณ ธรณีวิทยาและดาราศาสตร์ และ 4.วัฒนธรรมที่รวบรวมองค์ความรู้การบำบัดโรค พันธุศาสตร์ จิตวิทยา และร่างกายมนุษย์

หลังจากโลดแล่นมาได้ 3 เดือนก็ได้ฤกษ์เปิดตัว ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ก.ย.54ที่ผ่านมา ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดย นางสิรี อุดมฤทธิรุจ กรรมการผู้จัดการโพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงเหตุผลที่นำนิตยสารเล่มนี้มาจำหน่ายในเมืองไทยว่า เพราะบริษัทเห็นว่าช่วงนี้มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ

“จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์ในนิตยสารของเรามีทั้งวัฒนธรรม ชีววิทยาต่างๆ การแพทย์และเทคโนโลยีด้วย ฉะนั้นจะรวมไว้หลายประเภท และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยจะมีนิตยสารดีๆ เขียนง่าย อ่านง่าย ให้คนอ่านได้สนุกสนาน เพราะเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกได้ และให้คุณสุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ มาดูแล ซึ่งดูทั้งความสวยงาม การแปล และการเขียนให้ดีขึ้น” นางสิรีกล่าว

ทางด้าน สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ บรรณาธิการไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด ผู้มีประสบการณ์ทำนิตยสาร “ดิฉัน” และนิตยสารสตรีมากว่า 7 ปีเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่าการทำนิตยสารเล่มนี้มีความยากพอสมควร เพราะมีเนื้อหาที่หลากหลาย แต่ได้ผู้แปลที่ศึกษาในด้านต่างๆ มาให้ความรู้ที่ถูกต้อง โดยกองบรรณาธิการได้เลือกผู้แปลที่มีความรู้ในแต่ละเรื่องมาช่วยแปล รวมถึงได้ขอความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์เฉพาะจากผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนจุดเด่นของนิตยสารนั้น บก.ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด บอกว่าอยู่ที่เนื้อหาซึ่งได้คัดเลือกที่มีความทันสมัย นำเสนอให้อ่านสนุกและเข้าใจง่าย รวมถึงภาพกราฟิกที่ช่วยให้คนอ่านเข้าใจเนื้อเรื่องได้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของนิตยสารคือคนที่สนใจวิทยาศาสตรืและวัฒนธรรม โดยตอนนี้มีสมาชิกในระดับมัธยมขึ้นไปถึงผู้บริหารวัย 40-50 ปี และเขายังบอกอีกว่าคนอ่านจะได้ประโยชน์จากการรู้ทันเรื่องราววิทยาศาสตร์และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งนำไปต่อยอดได้ทั้งในชีวิตส่วนตัวหรือธุรกิจ

แล้วคนในวงการวิทยาศาสตร์เขามองการเปิดตัวนิตยสารเล่มนี้อย่างไรบ้าง? ในมุมของ ผศ.ดร.สุชชนา ชวนิชย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนไทยคนที่ 2 ที่ได้เดินทางไปสำรวจและวิจัยขั้วโลกใต้ กล่าวว่าเธออ่านนิตยสารฉบับเดียวกันนี้ตอนอยู่เมืองนอกเป็นประจำ และหวังว่าการเปิดตัวนิตยสารเล่มนี้ในเมืองไทยจะทำให้เยาวชนและคนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ส่วน แทนไท ประเสริฐกุล นักเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ ให้ความเห็นความเห็นว่าสื่อทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นมีเพื่อถ่วงดุลความสนใจ โดยเขารู้สึกว่าชีวิตประจำวันของคนทั่วไปนั้นมีเรื่องอื่นให้สนใจเยอะแล้ว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเรื่องอื่นๆ ส่วนวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่เรียกความสนใจได้ และเราสามารถทำให้วิทยาศาสตร์เป็นได้ทั้งเรื่องบันเทิง กีฬาหรือการแพทย์

ทางด้าน ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ ผู้บริหารสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท.กล่าวว่า การเปิดตัวนิตยสารฉบับนี้เป็นการจุดประกายให้มีนิตยสารและสื่อดีๆ ในประเทศไทยมากขึ้น และอยากให้มีนิตยสารดีอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น โดยตัวเขาได้อ่านนิตยสารเล่มนี้แล้วรู้สึกชอบเพราะให้ความรู้มากขึ้น และยังนำเสนอด้วยเรื่องราวที่ง่ายและมีภาพประกอบที่ดึงดูดความสนใจของคนทั่วไปได้
ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจมาร่วมชมนิทรรศการ
ผศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์
ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์
เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ต่อการเปิดตัวนิตยสารเล่มล่าสุด (ขวาไปซ้าย) แทนไท ประเสริฐกุล , ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ และ ผศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์
 (ซ้ายไปขวา) แทนไท ประเสริฐกุล, ผศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์, นายสุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ บก.นิตยสารไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด และ ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์
ม.ร.ว สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดตัวนิตยสาร



อ่านข่าวเกี่ยวกับนิตยสารวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย

-ย้อนตำนาน “ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์” สู่สื่อวิทย์ที่ปิดตัวเป็นนิจ
-สู่อัจฉริยะกับนิตยสารวิทย์ฉบับใหม่ “Go Genius”
-My Maths นิตยสารเลขเล่มเดียวของไทย แรงบันดาลใจจากเวียดนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น