xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องจับเท็จแค่อ่านสีหน้าก็บอกได้ใครโกหก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องจับเท็จวัดการโกหกจากสีหน้า (บีบีซีนิวส์)
นักวิจัยอังกฤษพัฒนาเซนเซอร์จับอารมณ์ที่แสดงออกทางใบหน้าก็สามารถบอกได้ว่าใครโกหก อาศัยระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้กล้องบันทึกวิดีโอ เซนเซอร์จับภาพทางความร้อนความละเอียดสูงและชุดอัลกอริทึม คาดจะเป็นตัวช่วยอย่างดีในงานบริการความปลอดภัย

ศ.ฮัสสัน ยูเกล (Prof.Hassan Ugail) จากมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด (Bradford University) สหราชอาณาจักร หัวหน้าทีมวิจัยผู้พัฒนาตรวจจับการโกหกโดยอาศัยกล้องภาพอารมณ์บนใบหน้ากล่าวว่า ระบบที่เขาและทีมพัฒนาขึ้นมานั้นประสบความสำเร็จในการจำแนกความจริงกับเรื่องเท็จได้ 2 ใน 3 ของกรณีตัวอย่างในการศึกษา

ระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของทีมมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ดและทีมจากมหาวิทยาลัยแอบเบอรีสไทส์ (Aberystwyth University) ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่าเป็นผลจากการวิจัยที่ใช้เวลาหลายปีเพื่อทำความเข้าใจว่าเราแสดงอารมณ์ออกมาอย่างไม่รู้ตัว โดยการเปลี่ยนสีหน้าเพียงเล็กน้อยและมีลักษณะการไหลเวียนโลหิตไปยังผิวหนังของเราอย่างไร

ทั้งนี้ เราแสดงอารมณ์โดยการเคลื่อนไหวลูกตา ขยายตาดำ ขบกัดหรือเม้มริมฝีปาก ย่นจมูก หายใจ กลืนน้ำลาย กระพริบตา หรือทำใบหน้าบิดเบี้ยว ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณที่จับได้ด้วยกล้องของระบบที่พัฒนา และแม้กระทั่งเส้นเลือดรอบๆ ดวงตายังไม่อาจหนีพ้นการตรวจจับของเซนเซอร์วัดความร้อน

การตรวจจับการโกหกแบบเดิมๆ นั้นต้องอาศัยเครื่องจับเท็จ (polygraph) ที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 1921 ซึง่มีการรุกล้ำร่างกายอย่างมากจากสายอุปกรณ์ที่ใช้แปะผิวหนังเพื่อวัดสัญญาณ แต่เครื่องจับเท็จแบบใหม่นี้ทางบีบีซีนิวส์บอกว่าจะไม่มีอุปกรณ์ที่รุกล้ำผู้ถูกทดสอบ และยังให้ความจริงที่ถูกซ่อนไว้ได้ทันที

“เรารวบรวมงานศึกษาด้านการแสดงออกทางสีหน้า เทคโนโลยีการประมวลภาพเชิงความร้อนที่เพิ่งได้รับการพัฒนา เทคนิคการติดตามภาพวัตถุและอัลกอริทึมใหม่ของเราเข้าไว้ในระบบปฏิบัติการเพียงหนึ่งเดียว” ศ.ยูเกลกล่าว

อย่างไรก็ดี จนบัดนี้ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบเครื่องจับเท็จในกลุ่มอาสาสมัครเท่านั้น ยังไม่มีการใช้เครื่องจับเท็จนี้ในชีวิตจริง สถานการณ์ที่มีการเดิมพันสูง แต่ปลายปีนี้พวกเขาวางแผนที่จะนำอุปกรณ์ทดสอบนี้ไปใช้ที่สนามบินของอังกฤษ ซึ่งอาจจะได้ทำการทดสอบเครื่องไปพร้อมกับชุดตรวจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหลังจากนั้นจะได้ทดสอบอัลกอริทึมของพวกเขากับผลสรุปสำนักงาน

“ในความเป็นจริง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดสูง เราอาจจะได้ผลสำเร็จค่อนข้างสูง” ศ.ยูเกลกล่าว โดยเขาเชื่อว่าอุปกรณ์ที่เขาพัฒนาขึ้นมานั้นจะตรวจจับได้ถึง 90% ของคนที่โกหก ซึ่งเป็นประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับเครื่องจับเท็จ

หากแต่ทีมวิจัยยอมรับว่าการทดสอบนี้ไม่มีทางแม่นยำได้ 100% เพราะสิ่งที่พวกเขาตรวจจับคืออารมณ์ เช่น ความกังวลใจ ความกลัวหรือความไม่ไว้วางใจ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่การแสดงออกของการโกหก อย่างความกลัวนั้นบางครั้งอาจเป็นความกลัวว่าจะมีคนไม่เชื่อ มากกว่าเป็นความกลัวจากการถูกจับได้
ศ.ยูเกล (บีบีซีนิวส์)
(บน) ศ.ยูเกลสาธิตทดสอบเครื่องจับเท็จ (ล่าง) ภาพจากกล้องถูกประมวลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ (บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น