xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนพระองค์วางพานพุ่มสักการะ ร.4 เนื่องใน “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพลากร  สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี - ผู้แทนพระองค์วางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมรูป ร.4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เนื่องใน "วันวิทยาศาสตร์" น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติที่ทรงนำประเทศเข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์ หลังทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เมื่อ เวลา 09.15 น.วันที่ 18 ส.ค.54 เนื่องใน “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ข้าราชการและตัวแทนจากภาคเอกชน รอรับผู้แทนพระองค์

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณและพยากรณ์ว่า ปีมะโรง พ.ศ. 2411 วันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 18 ส.ค. 2411 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคามืดหมดดวง จะเห็นได้ชัดที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทรงพยากรณ์ล่วงหน้าถึง 2 ปี โดยไม่มีหลักฐานการคำนวณจากประเทศตะวันตก และเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2411 อันเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนบรรดาผู้มาเข้าเฝ้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างเฝ้ารอคำพยากรณ์จากการคำนวณทางดาราศาสตร์

ในตอนแรกไม่มีผู้ใดแลเห็นสุริยุปราคาตอนเริ่มจับ พระองค์ทรงพยากรณ์ไว้ว่า คลาสเริ่มจับเวลา 10.04 น. รอจนถึง 10.16 น. คลาสเริ่มจับมากขึ้นทุกที ท้องฟ้าที่สว่างเริ่มมืดสลัวลง จนถึงเวลา 11.20 น. ท้องฟ้ามืดลงจนมองเห็นดวงดาว คลาสจับเต็มดวงเมื่อเวลา 11.36 น. 20 วินาที กินเวลานานถึง 6 นาที 45 วินาที ท้องฟ้ามืดจนเป็นเวลากลางคืน นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงตรงตามเวลาที่พระองค์ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคของวิทยาศาสตร์มาแต่บัดนั้น การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนั้น ถือเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้คำนวณด้วยพระองค์เองต่อหน้าคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และแขกเมืองชาวต่างประเทศ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 เม.ย 2525 เทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และกำหนดให้วันที่ 18 ส.ค. ของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดให้มีพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ อย่างต่อเนื่องทุกปีเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยและประเทศชาติ

นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2554 ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์” ระหว่างวันที่ 6–21 ส.ค. 2554 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานประกอบ ด้วยนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ที่ทรงวางรากฐานการพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทย

รวมถึงนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงมีบทบาทและให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิทรรศการและกิจกรรมการแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งนิทรรศการและกิจกรรมร่วมฉลองปีเคมีสากล ให้เกิดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของเคมีและแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเคมีที่มีอยู่ในสิ่งรอบตัวเรา

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะ
กำลังโหลดความคิดเห็น