ทีมวิจัยมาเลย์ออกสำรวจป่าในเกาะบอร์เนียว พบ “คางคกสายรุ้ง” ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วและเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 80 ปีก่อน และมีหลักฐานเป็นเพียงภาพวาดของคณะสำรวจจากยุโรปเมื่อเกือบศตวรรษที่ผ่านมา ชี้สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเป็นด่านหน้าที่เผชิญการสูญพันธุ์ก่อนสิ่งมีชีวิตอื่น
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมาเลเซียซาราวัค (Universiti Malaysia Sarawak: UNIMAS) พบคางคกสายรุ้งขายาวที่ไม่เห็นมานานกว่า 80 ปี โดยเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1924 โดยบีบีซีนิวส์รายงานว่าพวกเขาค้นพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่ไม่ได้พบมาเป็นเวลานานนี้ ระหว่างออกสำรวจตอนกลางคืนในป่าภูเขาของเกาะบอร์เนียวที่อยู่ห่างไกล
ก่อนหน้านี้เรามีเพียงภาพวาดของคางคงชนิดนี้ ซึ่งวาดขึ้นจากตัวอย่างที่เก็บรวบรวมโดยคณะสำรวจจากยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1920 และเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (Conservation International) ได้เริ่มโครงการระดับโลกเพื่อค้นหาสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่สาบสูญ (Global Search for Lost Amphibians) และได้จัดให้คางคกชนิดนี้อยู่ในบัญชี 1 ใน 10 สัตว์จำพวกกบซึ่งเป็นที่ต้องการสูงสุด
การสำรวจครั้งนี้นำทีมโดย ดร.อินทราเนียล ดาส (Dr.Indraneil Das) ซึ่งได้ออกสำรวจเทือกเขาทางตะวันตกของรัฐซาราวัคและเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับจังหวัดกาลีมันตันตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยหลังจากใช้เวลาสำรวจในช่วงกลางคืนนานหลายเดือน หนึ่งในลูกศิษย์ของ ดร.ดาสได้พบคางคงตัวเล็กๆ เกาะบนกิ่งไม้สูงโดยบังเอิญ
“การค้นพบอันน่าตื่นเต้นอย่างคางคงที่สวยงามนี้ และความสำคัญของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีต่อระบบนิเวศที่สมบูรณ์นั้น เป็นแรงผลักดันให้เราคงค้นหาสิ่งมีชีวิตที่สาบสูญ พวกมันย้ำเตือนพวกเราว่าธรรมชาติยังถือครองความลับอันล้ำค่า ซึ่งเรายังค้นไม่พบ” ดร.ดาสกล่าว ทั้งนี้ พวกเขามีเพียงภาพวาดของคางคงสายพันธุ์ แอนโซเนีย ลาติดิสกา (Ansonia latidisca) เป็นข้อมูลว่าคางสายพันธุ์นี้หน้าตาเป็นอย่างไร
ด้าน ดร.โรบิน มัวร์ (Dr.Robin Moore) จากองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ผู้เริ่มโครงการสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกระดับโลกนี้ รู้สึกปลาบปลื้มต่อการค้นพบนี้มาก และบอกว่าไม่อยากจะเชื่อเมื่อได้เห็นภาพแรกของกบสปีชีส์นี้ซึ่งสาบสูญไปเกือบ 90 ปีแล้ว
“เป็นเรื่องดีที่ได้รู้ว่าธรรมชาติสามารถสร้างเรื่องแปลกใจให้แก่เราเมื่อเรากำลังจะสิ้นหวัง โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตสูญพันธุ์ของโลกเราที่กำลังเพิ่มขึ้น และสัตว์สะเทินสะเทินบกก็อยู่ด่านหน้าของเหตุการณ์เลวร้ายนี้ ดังนั้น ผมคาดหวังว่าสปีชีส์จำเพาะนี้จะเป็นธงสัญลักษณ์ในการอนุรักษ์ ซึ่งจุดประกายความภาคภูมิและความหวังโดยชาวมาเลเซียและผู้คนทุกหนทุกแห่ง” ดร.มัวร์กล่าว