xs
xsm
sm
md
lg

มาทำข้อสอบ “นกขี้โมโห” กันเถอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Angry Bird เกมชื่อดัง และเครื่องมือชั้นดีในการสอนกลศาสตร์ฟิสิกส์
หลายคนในเครือข่ายโซเชียลมีเดียคงได้เห็นข้อสอบฟิสิกส์ที่ดึง “เจ้านกขี้โมโห” มาเป็นตัวเอกกันบ้างแล้ว ข้อสอบดังกล่าวเป็นออกโดยคุณครูโรงเรียน ม.ปลายของสิงคโปร์ ที่กำหนดให้หาว่า “นกแดง” ต้องทำมุมยิงเท่าไรจึงจะยิงโดน “หมูเขียว” และมีคะแนนความถูกต้องถึง 7 คะแนน

“เจ้าสิ่งนี้ทำให้ฉันรักฟิสิกส์” ซิม วี คง (Sim Wee Kong) นักเรียนในโรงเรียนจูเนียร์คอลเลจ (Junior College) แห่งหนึ่งของสิงคโปร์ทวีตผ่านทวิตเตอร์ ส่วนนักเรียนอีกคนคือ ฮุย ยี (Hui Yi) ทวีตบ้างว่า “ฉันคงจะได้ A เพราะเจ้านี่”

ทั้งนี้ ในการสอบกลางปีของนักเรียนในสิงคโปร์นั้นเจ้านกขี้โมโหตัวเอกของเกมดัง Angry Bird ในสมาร์ทโฟนและแท็บเลตถูกดึงมาเป็นโจทย์กลศาสตร์ในข้อสอบฟิสิกส์ โดยโจทย์กำหนดให้นักเรียนคำนวณหามุมยิงหนังสติ๊กที่ทำให้ “นกแดง” (red bird) พุ่งไปชน “หมูเขียว” (green pig) โดยไม่พลาดเป้า

ข้อมูลในโจทย์กำหนดให้ระยะทางจาก “นกแดง” ไปถึง “หมูเขียว” คือ 55 เมตร โดยนกแดงอยู่สูงจากพื้น 10 เมตร ส่วนหมูเขียวอยู่สูงจากพื้น 12 เมตร และเวลาที่นกแดงพุ่งไปถึงนกเขียวคือ 2.5 วินาที ซึ่งคำถามนี้มีคะแนนถึง 7 คะแนน

ทางยาฮูนิวส์ (Yahoo News) ซึ่งรายงานเรื่องนี้ได้สัมภาษณ์ ดารีล อัง (Daryl Ang) ครูฟิสิกส์ชาวสิงคโปร์วัย 34 ปี ซึ่งให้ความเห็นยืนยันว่า หากใช้เกม Angry Bird ไปในทางที่ถูกต้องก็สร้างมูลค่าทางการศึกษาได้อย่างที่ควรจะเป็น

“มีกฎฟิสิกส์หลายๆ ข้อที่นักเรียนจะเรียนรู้ได้จากเกม Angry Bird ซึ่งกฎเหล่านั้นรวมเรื่อง มวล ความเร็ว การเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ (Projectile) แรงโน้มถ่วง และกฎของนิวตัน” อัง คุณครูผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชาวสิงคโปร์กล่าว

ในสหรัฐฯ จอห์น เบิร์ก (John Burk) คุณครูในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากเกมเดียวกันนี้ในการสอนฟิสิกส์ด้วยเช่นกัน โดยเขาได้ชี้ชวนให้เห็นว่าเกมยอดนิยมนี้เป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบในการสอนนักเรียนเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ ซึ่งใช้ในการยิงนกขึ้นฟ้า ซึ่งช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ในเวลา 30 นาที
ข้อสอบ Angry Bird ที่ส่งต่อกันทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก (ยาฮูนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น