นักวิทยาศาสตร์พบ “หอยทากจิ๋ว” ในเกาะญี่ปุ่นรอดตายแม้ถูกนกกลืนกิน โดยพบหอยทากจิ๋วมีชีวิตปะปนอยู่ในกองอึนก นักวิทยาศาสตร์ชี้เป็นหลักฐานว่า นักล่ามีปีกคือปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรหอยทากแพร่กระจาย เช่นเดียวกับเมล็ดพืชที่ถูกนกกิน
นักวิทยาศาสตร์พบหอยทากจิ๋วที่ตกเป็นเหยื่อนกแว่นตาขาวหลังเขียว (Japanese white-eyes) ในเกาะฮาฮาจิมะของญี่ปุ่นนั้น รอดตายจากระบบทางเดินอาหารของนกถึง 15% บีบีซีนิวส์ระบุว่านักวิจัยพบหอยทากที่โชคดีเหล่านั้นอยู่ในมูลของนกที่ขับถ่ายไว้ ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า นกนักล่านั้นอาจเป็นปัจจัยหลักในการแพร่กระจายพันธุ์ของประชากรหอยทาก
ทั้งนี้ ทราบกันดีอยู่แล้วว่านกสามารถแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชได้จากการกินผลไม้ แต่การค้นพบล่าสุดของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตโฮกุ (Tohoku University) ในญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก็สามารถแพร่กระจายด้วยวิธีการเดียวกันนี้ได้ และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ลงวารสารไบโอจีโอกราฟี (Biogeography) และยังมีงานวิจัยอื่นก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าหอยทากในแหล่งน้ำก็รอดตายจากการถูกปลากินในวิธีเดียวกันนี้ด้วย
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการกินอาหารของนกแว่นตาหลังเขียวในเกาะฮาฮาจิมะที่ชอบกินหอยทากบก “ทอร์นาเทลลิเดส โบนิงไจ” (Tornatellides boeningi) โดยการทดลองในห้องปฏิบัติการนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองเลี้ยงนกด้วยหอยทากจิ๋วพันธุ์ดังกล่าว เพื่อดูว่าหอยทากจะมีชีวิตรอดจากระบบทางเดินอาหารของนกหรือไม่
“เราแปลกใจที่มีอัตราการรอดสูง โดยประมาณ 15% ของหอยทากยังคงมีชีวิตรอดหลังจากผ่านกระเพาะของนกไปแล้ว” ชินิจิโร วาดะ (Shinichiro Wada) ผู้วิจัยอธิบาย โดยเขาและทีมยังศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมของประชากรหอยทากที่พบทั่วเกาะ และพบว่ามีความหลากหลายของหอยทากอย่างชัดเจน แต่แทนที่จะจับคู่ผสมพันธุ์เฉพาะหาอทากที่อยู่ใกล้ๆ กัน ผลการทดลองยังชี้ว่าประชากรต่างชิดยังมีการติดต่อถึงได้ แม้ถิ่นที่อยู่จะแยกกันก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าปัจจัยสำคัญที่หอยทากรอดชีวิตคือขนาดที่เล็กมาก โดยเฉลี่ยหอยทากชนิดนี้มีขนาดเพียง 2.5 มิลลิเมตร ทำให้โชคดีกว่าหอยหากสปีชีส์ที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งเปลือกที่คอยปกป้องจะเสียหายเมื่อหอยทากขนาดใหญ่กว่าถูกกิน ทั้งนี้ มร.วาดะและขณะยังจะศึกษาต่อไปอีกว่า หอยทากจิ๋วชนิดนี้ยังรอดตายจากนักล่าชนิดอื่นอีกหรือไม่