xs
xsm
sm
md
lg

ลูกเจ้าแม่คลองประปาเฉือนเอาชนะคู่ต่อสู้เพียง 2 วินาที ก่อนคว้าชัยแข่งหุ่นยนต์ ABU

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมหน้าผู้ชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU นายน้ำเพชร สุขเกษม นายพีรเดช เปรมใจ และนายสุปรีชา เหมยเป็ง (เรียงจากซ้ายไปขวา)
“ลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited”  ทีมจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ สามารถลอยกระทงได้ก่อน เฉือนเอาชนะ “ซุ้มกอ” ทีมน้องใหม่จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร เพียง 2 วินาที ในการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ส.ค. 54 นี้

ปิดฉากลงแล้วสำหรับการแข่งขัน หุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2554 ได้ทีมชนะเลิศจากการแข่งขันภายในงานวันสุดท้ายของงาน "ถนนสายเทคโนโลยีครั้งที่ 10" ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อสมท. ระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย.54 ทีมที่คว้าชัยไปครองคือ  “ลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited” แชมป์หลายสมัยจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ โดยเฉียนเอาชนะทีม “ซุ้มกอ” น้องใหม่จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ในเกมสุดท้ายเพียง 2 วินาที เท่านั้น

กติกาการแข่งขันดำเนินภายใต้แนวคิด “ลอยกระทง จุดประกายความสุขด้วยมิตรภาพ” (Loy Krathong, Lighting Happiness with Friendship) เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ประกอบ “กระทง” ซึ่งผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ 1 ตัว และเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ 1 หรือ 2 ตัว

หุ่นยนต์บังคับด้วยมือจะต้องนำกระถางธูปไปวางไว้ในเขต common zone โดยหุ่นยนต์อัติโนมัติจะต้องนำกลีบกระทง และดอกไม้ ไปวางณ จุดเตรียมการ ในขณะที่หุ่นยนต์บังคับด้วยมือต้องนำฐานต้นเทียนไปวาง ณ จุดตกแต่ง จากนั้นหุ่นยนต์อัติโนมัติต้องขึ้นไปบนศาลาเพื่อประกอบกระทง โดยหยิบกลีบกระทงและดอกไม้นำไปสวมใส่ลงบนต้นเทียน

จากนั้นหุ่นยนต์บังคับด้วยมือจะต้องนำธูป 3 ดอกจากเขต common zone ไปใส่ในกระทง ที่ประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นหุ่นยนต์อัตโนมัติต้องยกกระทงที่ประกอบเสร็จไปปล่อยลงแม่น้ำ ซึ่งหุ่นยนต์อัติโนมัติจะต้องนำเปลวเทียนไปปล่อยลงบนฐานเทียน ในกระทงที่ลอยอยู่ในน้ำ ทีมใดสามารถปล่อยเปลวเทียนได้ก่อนทีมนั้นเป็นฝ่ายชนะ เรียกว่า “ลอยกระทง”  ในแต่ละรอบมีเวลา 3 นาที

รอบชิงชนะเลิศต้องแข่งขันกัน 3 รอบ โดยทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited สลับเป็นฝ่ายแดง-ฝ่ายน้ำเงิน กับทีมซุ้มกอ เริ่มรอบแรกท่ามกลางกองเชียร์ที่ดังกระหึ่ม ตัวแทนจากทีม ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ สามารถประกอบกระทงได้รวดเร็วกว่า เหลือเพียงแค่ปล่อยเปลวเทียนลงบนฐานเทียนก็สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ แต่โชคไม่เข้าข้างลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited เพราะหุ่นยนต์ไม่สามารถบังคับเปลวเทียนให้ลงฐานได้ เปลวเทียนตกพื้น ทำให้ ซุ้มกอ สามารถพลิดล็อคเอาชนะไปได้ด้วยเวลา 2.52 นาที

มาต่อที่รอบสอง หากครั้งนี้ ซุ้มกอ สามารถเอาชนะได้ก็จะเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขัน แต่หากแพ้ก็ต้องไปลุ้นกันในรอบที่ 3 รอบนี้ลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited อาศัยความรวดเร็วสามารถประกอบกระทงและนำเปลวเทียนไปใส่ลงฐานได้ก่อน จึงสามารถลอยกระทงได้ไปในเวลา 2.27 นาที  ทำให้เกมกลับมาเสมอกันอีกครั้ง จึงต้องไปลุ้นกันในรอบสุดท้าย

รอบนี้ทั้งลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited และ ซุ้มกอ สามารถบังคับหุ่นยนต์มาประกอบกระทงได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการแข่งขันที่สูสีกันมาก คาดเดาไม่ได้เลยว่าใครจะสามารถคว้าชัยในครั้งนี้ไปครองกันแน่ มาถึงช่วงสุดท้ายที่แต่ละทีมจะต้องนำเปลวเทียนมาใส่ลงบนฐานเทียน ปรากฏว่าทีมจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ สามารถลอยกระทงได้ภายในเวลา 2.24 เฉียนเอาชนะซุ้มกอ เพียง 2 วินาทีเท่านั้น 

ทำให้ลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited สามารถคว้าแชมป์ประเทศไทยพร้อมรับเงินรางวัล 100,000 บาทและถ้วยรางวัลไปครอง ขณะที่ทีมซุ้มกอคว้ารางวัลรองชนะเลิศและรับเงินรางวัล 50,000 บาทพร้อมถ้วยรางวัลไป

การเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ABU Robocon (ABU Asia-Pacific Robot Contest 2011, Bangkok) ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันได้จบลงแล้ว ซึ่งทั้งสองทีมจะได้เข้าร่วมการแข่งขันที่จะมีขึ้นในเดือน ส.ค. 54 นี้

ตัวแทนจากเยาวชนไทยที่ชนะเลิศ ได้แก่ นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ นายพีรเดช เปรมใจ นักศึกษาจากสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ นายสุปรีชา เหมยเป็ง สาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรม และนายน้ำเพชร สุขเกษม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า

ตัวแทนเยาวชนไทยรองชนะเลิศอันดับ 1 จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร สาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม ได้แก่ นายนคร คุยศรี นายประเสริฐ สะมะถะเขตการณ์ และนายวุฒิชัย ทิศกระโทก

นายพีรเดช ตัวแทนจากทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited ได้เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงชัยชนะในครั้งนี้ว่า จุดเด่นของหุ่นยนต์ที่ทีมได้พัฒนาขึ้นมานั้นคืออาศัยความรวดเร็วในการประกอบกระทง แต่ยังขาดความแม่นยำจึงทำให้เกมแรกพลาดไป แต่ช่วงตลอดการแข่งขันนั้นทางทีมได้ปรับปรุงหุ่นยนต์ตลอดการแข่งขัน เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดเวลาอยู่ในสนามจริง

ทั้งนี้ ตัวแทนจากม.ธุรกิตบัณฑิตย์ ยังเผยเทคนิคสำคัญของการพัฒนาหุ่นยนต์ในครั้งนี้ด้วยว่า นอกจากความสามัคคีของทีมแล้ว ยังได้ศึกษาวิธีการจากคลิปต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขจนสามารถประกอบหุ่นยนต์ที่สมบูรณ์ได้

“รู้สึดดีใจที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันในครั้งนี้ ทางทีมก็จะเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน จะไม่ทำให้คนไทยผิดหวังแน่นอน” นายพีรเดช บอกถึงความมุ่งมั่น

แม้จะพลาดการคว้าชัยไปเพียง 2 วินาที แต่ นายนคร ตัวแทนจากทีมซุ้มกอ บอกว่า การพลาดในครั้งนี้นั้นเนื่องจากว่าทีมได้พัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความแม่นยำในการประกอบกระทง แต่ยังขาดความรวดเร็ว ซึ่งในรอบสุดท้ายที่แพ้ไปนั้นเนื่องจากว่าตัวเซ็นเซอร์ของหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่ต้องนำเปลวเทีนยมาวางบนฐานของกระทงนั้น ทำงานช้าจึงทำให้พลาดการคว้าชัยไป

“แต่ก็รู้สึกดีใจที่ในปีนี้ทีมที่ได้ที่ 2 ได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคและเอเชียแปซิกด้วย ซึ่งก่อนที่จะถึงการแข่งขันก็จะนำหุ่นยนต์ไปปรับปรุงให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น” นายนคร กล่าว

ในรอบชิงชนะเลิศนี้ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด ณ ฮอลล์ 1 อิมแพค เมืองทองธานีในครั้งนี้ด้วย

สำหรับการแข่งขัน ABU ระดับประเทศไทยนี้จัดขึ้นโดย บมจ.อสมท. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (สสท.)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาตินั้นทางสถานีโทรทัศน์ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Broadcasting Union : ABU) จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 แล้ว
บรรยากาศการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในรอบบสุดท้าย ที่แต่ละทีมจะต้องบังคับหุ่นยนต์ให้นำเปลวเทียนมาใส่ลงบนฐานเทียนในกระทงที่ลอยอยู่ในน้ำให้สำเร็จ
ผู้เข้าแข่งขันบังคับหุ่นยนต์เพื่อนำธูปจำนวน 3 ดอก จากเขต common zone ไปประกอบใส่กระทง ณ จุดตกแต่ง
หุ่นยนต์อัติโนมัตกำลังนำกลีบกระทง และดอกไม้ ไปวางณ จุดเตรียมการ
เช็คสภาพหุ่นยนต์ก่อนการแข่งขัน
ผู้เข้าแข่งขันบังคับหุ่นยนต์ในการนำฐานต้นเทียนไปวาง ณ จุดตกแต่ง
หุ่นยนต์ทั้ง 3 ตัวของทีม “ลูกเจ้าแม่คลองประปา  The Limited”
โฉมหน้าทีมซุ้มกอ นายประเสริฐ สะมะถะเขตการณ์  นายวุฒิชัย ทิศกระโทก และนายนคร คุยศรี (เรียงจากซ้ายมาขวา)
กองเชียร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง รับเงินรางวัล 20,000 พร้อมถ้วยรางวัล
กำลังโหลดความคิดเห็น