xs
xsm
sm
md
lg

ย่ำรุ่ง 16 มิ.ย.ชวนชม "จันทรุปราคาเต็มดวง" พร้อมปรากฏการณ์บังดาวฤกษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปแสดงปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งเห็นเป็นสีแดงอิฐเพราะแสงสีแดงจากดวงอาทิตย์ซึ่งมีความยาวคลื่นยาวหักเหผ่านชั้นบรรยากาศโลกไปตกที่ดวงจันทร์  (ภาพจาก สดร.)
ย่ำรุ่ง 16 มิ.ย. 54 สดร.ชวนคนไทยชมจันทรุปราคาเต็มดวงนานเกิน 100 นาที ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ชมได้ด้วยตาเปล่าพร้อมกันทั่วประเทศ คาดหากท้องฟ้าใส ไม่มีแสงไฟรบกวนมีโอกาสเห็นทางช้างเผือก พร้อมสัมผัสปรากฏการณ์จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)   กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ในคืนของวันที่ 15 มิ.ย.54 ถึงเช้ามืดของวันที่ 16 มิ.ย.54 คนไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในเมืองไทย และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ความพิเศษของจันทรุปราคาครั้งนี้คือมีระยะเวลาคราสเต็มดวงนานเกิน 100 นาที โดยดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามืดของโลก เวลา 01.22 น. และจะเข้าสู่ช่วงคราสเต็มดวงตั้งแต่เวลา 02.22 น. ถึง 04.03 น.

“คนไทยจะได้เห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สูงจากขอบฟ้าประมาณ 30 องศา สามารถชมปรากฏการณ์นี้ได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ หากท้องฟ้าใส ไม่มีเมฆ และไม่มีแสงไฟรบกวน จะมีโอกาสเห็นทางช้างเผือกในคืนวันเพ็ญขณะที่ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบังทั้งดวงอีกด้วย” ดร.ศรัณย์ กล่าว

ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า สำหรับบริเวณที่สามารถสังเกตการเกิดปรากฏการจันทรุปราคาเต็มดวงได้นั้น ได้แก่ ทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชียกลาง ส่วนทวีปอเมริกาใต้ และยุโรป จะเห็นปรากฏการณ์นี้ในขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในทิศตะวันออก ส่วนทวีปเอเชียใต้ ประเทศออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ สามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ในขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในทิศตะวันตก

นอกจากนั้น ดร.ศรัณย์ ยังเผยอีกว่า นอกจากคนไทยจะได้ชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 16 มิ.ย. 54 แล้ว ยังมีอีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ “จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์” ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงาของโลกเกือบเต็มดวง หลังจากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ไปบังดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า 51 โอฟีอุชี (51 Ophiuchi)

“ตามเวลา ณ เชียงใหม่ ดาวฤกษ์ 51 โอฟีอุชี เริ่มหายเข้าไปหลังดวงจันทร์สีแดงอิฐในเวลา 02.08 น. แล้วจะโผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาในเวลา 02.12 น. ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ ลงไปถึง จ.ชุมพร ส่วนจังหวัดที่อยู่ใต้ลงไปจะเห็นเพียงจันทรุปราคาเฉียดดาวฤกษ์เท่านั้น” รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ แจกแจง

ดร.ศรัณย์ อธิบายว่าการเกิดปรากฏการณ์บังดาวฤกษ์เกิดขึ้นบนท้องฟ้าอยู่แล้ว แต่น้อยครั้งที่จะเกิดการบดบังดาวที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า สำหรับดาวฤกษ์ 51 โอฟีอุชีนั้น อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) เป็นดาวฤกษ์สีขาวที่อยู่นอกระบบสุริยะ มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ แต่อยู่ไกลจากโลกมาก สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าแต่จะไม่เด่นชัดมากนัก

นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ ยังมีข้อแนะนำในการสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้อีกว่า ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยสามารถสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่าค่อนข้างชัดเจน โดยมองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และควรเลือกสถานที่ค่อนข้างมืด ปราศจากแสงรบกวนจากเมือง และหากใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ก็จะสามารถเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคานี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“อย่างไรก็ดี การชมปรากฏการณ์นี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากท้องฟ้าไม่โปร่ง มีเมฆมากก็จะไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งหากพลาดการชมปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 16 มิ.ย.54 สามารถรอชมได้อีกครั้งในวันที่ 10 ธ.ค.54 นี้” ดร.ศรัณย์ กล่าว

ส่วนสาเหตุที่ดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐเมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนั้น ดร.ศรันย์เคยอธิบายไว้ว่า แม้แสงอาทิตย์ส่วนใหญ่จะถูกโลกบดบัง แต่ยังคงมีแสงจากดวงอาทิตย์บางส่วนไปตกกระทบบนดวงจันทร์ โดยแสงอาทิตย์บางส่วนนั้นเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลกแล้วเกิดการหักเห และแสงสีน้ำเงินที่มีความยาวคลื่นสั้นจะถูกกระเจิงออกไป เหลือแสงสีส้มหรือแดงที่มีความยาวคลื่นยาวไปตกกระทบบนดวงจันทร์ ทำให้เราเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐเมื่อคราสบังเต็มดวง อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่าความเข้มของสีบนดวงจันทร์ระหว่างเกิดจันทรุปราคานั้นมีความสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นและอนุภาคในชั้นบรรยากาศโลก

สำหรับการเกิดปรากฎการณ์ในครั้งนี้ ทาง สดร. ได้ร่วมกับเครือข่ายทางดาราศาสตร์ในจ.ฉะเชิงเทรา และสงขลา จัดกิจกรรมตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคา โดยจะมีการตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสกว่า 800 มิลลิเมตร เพื่อสังเกตปรากฏการณ์ และจะถ่ายทอดภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจากทั้งสามแห่ง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของ สดร.ที่ www.narit.or.th อีกด้วย

จุดแรกสำหรับถ่ายทอดสดคือบริเวณดาดฟ้า ชั้น 3 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จ.เชียงใหม่ จุดต่อมา บริเวณ หอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะมีการจัดกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจร่วมสังเกตปรากฏการณ์จากกล้องโทรทรรศน์อีก 3 จุด ได้แก่ ร.ร.เบญจมราชรังสฤษฏิ์, ร.ร.ไผ่แก้ววิทยา จ.ฉะเชิงเทรา และ ร.ร.ชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี จุดสุดท้ายคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา

พร้อมกันนี้ ดร.ศรัณย์ ได้เผยความคืบหน้าก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ บนดอยอินทนนท์ ระหว่างการแถลงข่าว “จันทรุปราคาเต็มดวง 16 มิ.ย. 54” ในวันที่ 6 มิ.ย. 54 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า ขณะนี้การก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติอยู่ระหว่างการก่อสร้างตัวอาคาร คาดว่าน่าจะสร้างตัวอาคารแล้วเสร็จพร้อมติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ในช่วงเดือนธันวาคม 2554 นี้

ทาง สดร.ยังกำหนดแผนก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน 5 เครือข่าย โดยหอดูดาวของเครือข่ายภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่ จ.นครราชสีมา จะสร้างแล้วเสร็จกลางปี 2555 คาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปี 2556 สำหรับเครือข่ายภาคใต้ ที่ จ.สงขลา นั้นจะดำเนินการสร้างในต้นปี 2555 ส่วนเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น และเครือข่ายภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน จ.พิษณุโลก อยู่ระหว่างการดำเนินการวางแผนสร้างต่อไป
แผนภาพแสดงขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา (ภาพจาก สดร.)
ทางสดร.ได้ร่วมกับเครือข่ายทางดาราศาสตร์ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และสงขลา ถ่ายทอดภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 16 มิ.ย. 54 ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ www.narit.or.th  (ภาพจาก สดร.)
รูปแสดงจันทรุปราคาเต็มดวง  (ภาพจาก สดร.)
ภาพจาก สดร.
ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเวลา 02.22.30 น. ในวันที่ 16 มิ.ย. 54  (ภาพจาก สดร.)
รูปแสดงการตัดกันระหว่างระนาบวงโคจรของโลกและระนาบวงโคจรของดวงจันทร์
แผนภาพแสดงการเกิดจันทรุปราคาในบริเวณต่างๆ (ภาพจาก สดร.)
เวลาเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในเมืองไทย วันที่ 16 มิ.ย. 54  (ภาพจาก สดร.)
ภาพแสดงตำแหน่งขณะดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปบังดาวฤกษ์เมื่อผู้สังเกตอยู่ ณ จ.เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ (ภาพจาก สดร.)
 ภาพแสดงให้เห็นว่าดวงจันทร์จะปรากฏสีส้มแดง ในช่วงเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา  (ภาพจาก สดร.)
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา  รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
การเรียกชื่อของปรากฏการณ์จันทรุปราคาในแต่ละภาค
ตารางลำดับเวลาการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบังดาว 51 โอฟีอุชี (51 Ophiuchi)
กำลังโหลดความคิดเห็น